` by Bhikkhu Anan Phutatummo Kidchakuth Summit (books to read now TXT) 📕
Read free book «` by Bhikkhu Anan Phutatummo Kidchakuth Summit (books to read now TXT) 📕» - read online or download for free at americanlibrarybooks.com
Read book online «` by Bhikkhu Anan Phutatummo Kidchakuth Summit (books to read now TXT) 📕». Author - Bhikkhu Anan Phutatummo Kidchakuth Summit
กุญแจชีวิต
รวบรวมและเรียบเรียงโดย
ภิกษุอานันท์ พุทธธัมโม
พุทธสถานอินเดียน้อย
วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล
ตำบลสันโค้ง อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา
คำนำ
ธรรมะฉบับพกพาที่ได้รวบรวมเรียบเรียงขึ้นในครั้งนี้ ได้พยายามกลั่นกรองรวมทุกถ้อยคำ เพื่อเป็นดุจ “กุญแจชีวิต” ไขประตูอิสระเสรี สู่ความว่างอันไพศาลไร้ขอบเขตจนมองทะลุโลก ทะลุภาพมายาอันไหลไปตามกระแสอารมณ์ความรู้สึก ด้วยภาษาที่อยู่นอกเหนือบทเรียนในตำรา แต่เป็นภาษาจากบทเรียนในชีวิตของผู้รู้แจ้งชัด ในธรรมอย่างเช่นพระพุทธองค์เป็นต้นเพราะปราศจากการแต่งแต้มสีสันให้เลอะเทอะเลือนลาง จนมองไม่เห็นภาพความจริงที่ปราศจากหมอกม่าน ฝ้ามัวซึ่งเป็นความบริสุทธิ์งดงามของความว่างคือ “ปรมัตถธรรม” ที่ผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว กับสรรพสิ่งที่เรียบง่ายตามธรรมชาติและสุดแสน จะธรรมดาที่สุด
ในเนื้อหาสาระทั้งหมด ซึ่งทรงเป็นปรีชาชาญของเพชรน้ำเอกหลายท่านที่ได้ประสบความสำเร็จ สุดยอดมาแล้ว จึงควรอย่างยิ่งแก่การเผยแพร่ ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ที่ได้ใช้เวลาศึกษามาเป็นเวลายาวนานกว่า ๕๐ ปี แม้จะเป็นเพียงภิกษุผู้ชรา อยู่ท่ามกลางธรรมชาติตามป่าเขามาตลอดแต่ก็ได้พยายามเฝ้ามองชีวิต สังเกตุสิ่งแวดล้อมมองดูโลก ค้นหาความจริงของสรรพสิ่งเรื่อยมา จนเป็นสายสัมพันธ์ต่อเนื่องมาตราบทุกวันนี้ จึงหวังว่าธรรมบรรณาการ “กุญแจชีวิต” จากจิตใจภิกษุผู้ชรา จักเป็นคุณประโยชน์จุดประกายธรรม ให้สว่างไสวในดวงใจท่านสาธุชนโดยทั่วไป และเพื่อเป็นอนุสรณ์จากจิตวิญญาณเป็นที่ระลึก ในงานศพของภิกษุอานันท์ พุทธธัมโม ด้วยความรู้สึกประทับใจต่อธารน้ำใจอันบริสุทธิ์ที่เบ่งบานงดงาม จากทุกท่านที่มาร่วมงาน จงสลัดความอาลัยอาวรณ์และเศร้าโศกาอาดูร ขอให้ทุกท่านจงทำใจให้สดชื่นแจ่มใสพร้อมกับรอยยิ้มอย่างอ่อนโยนให้ชีวิต และความตาย จงก้าวเดินไปข้างหน้าสู่ที่สุดยอด ของชีวิตและโลก คือความว่างและสงบ ปราศจากความกลัวและความวิตกกังวล ไม่ต้องกลัวว่าผี จะมาหลอก ไม่ต้องกลัวว่าจะตกขอบหลุดจาก สังคมโลก ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นบ้า ไม่ต้องกลัวจะเป็นคนประหลาดหรือพิเศษพิศดาร ไม่ต้องเสียใจเสียดายต่อการจากพรากหรือการสูญเสียโดยประการทั้งปวง ขอให้ทุกท่านทำใจให้เป็นปกติที่สุด จนจิตนิ่งสงบเยือกเย็นสุขุมที่สุด ขณะอยู่บนพื้นผิวโลก ของความจริงจะมีชีวิตที่สมบูรณ์อย่างสุดยอด ขอมอบธรรมะฉบับพกพา จากหลุมศพด้วยความขอบพระคุณแด่ทุกท่านด้วยไมตรีจากอนุสรณ์แห่งความทรงจำนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกเป็นแสงสว่างนำทาง เป็นกุญแจชีวิตต่อไปตราบกาลนาน….
อนึ่งธรรมะฉบับพกพาสำเร็จเป็นรูปเล่ม ด้วยอาศัยกัลยาณมิตรหลายท่าน อาทิ ภิกษุกรเอก รัตนทีโป ได้กรุณาพิมพ์และตรวจทาน คุณอังศุมาลิน บุญทา กรุณาเป็นผู้ตรวจทาน ท่านผู้อำนวยการ ระจิตตรี วงษ์สวรรค์ กรุณาเป็นผู้ตรวจทาน คุณเกรียงไกร มูลเมือง กรุณาออกแบบปกหน้า คุณรัชนีย์ จันทร์หอม กรุณาออกแบบปกหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่สุภาวิตา วาริการ ได้ทุ่มเทแรงใจใช้สติปัญญาญาณแปลเป็นภาคภาษาอังกฤษพร้อมกับบันทึกเสียงได้อย่างสละสลวย จึงขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้ร่วมงานชิ้นสำคัญนี้ ให้เป็นมรดกไว้บนผืนแผ่นดินโลกเพื่อประโยชน์ แด่มวลมนุษยชาติ ถือได้ว่าทุกท่านนับเนื่องเป็น หน่อเนื้อนาบุญร่วมกันมา เพื่อโปรยเมล็ดพันธุ์ แห่งพุทธะสู่จิตใจเพื่อนร่วมโลกสืบไป...
หยุด!!!
“หยุดความคิดรวมใจให้เป็นหนึ่ง
ถอนความรู้สึกว่าเป็นเราหรือเป็นอะไรให้หมดสิ้น
ทำจิตให้ว่าง หายใจให้ลึกปลอดโปร่งปล่อยวาง
คือกุญแจดอกสำคัญไปสู่ความสงบสุขของชีวิต
ล้านความคิดจนล้นสมองทำให้ยุ่งเหยิงหมดสภาพ
หมดเรี่ยวแรงหมดหนทาง ไร้ความคิด
สู่จุดจบ ศิโรราบพ่ายแพ้สังขารถ้วนทุกตัวตน
จงกลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมที่ว่างและสงบเรียบง่ายที่สุด
ใช้ชีวิตอย่างธรรมดาผสานกลมกลืนกับธรรมชาติ
คือกุญแจชีวิตเปิดประตูไขสู่ความว่าง...”
ภิกษุอานันท์ พุทธธัมโม
ยอดเขาคิชกูฎิ พุทธสถานอินเดียน้อย
วัดพระธาตุแสงแก้วมงคล
วันศุกร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗ เวลา ๐๕.๔๐ น.
“อรุณเบิกฟ้า.....
แสงทองส่องหล้านภาลัย.....
ท่ามกลางชลธาราดอกบัว.....
บานสะพรั่งงดงามกลางดวงใจ.....
สรรพสัตว์คือเมล็ดพันธุ์องค์พระพุทโธ…..
คู่โลกทุกยุคสมัย.....
ทุกชีวิตคือสัจธรรม.....
สู่สูญญตาว่างเปล่าไร้ตัวตนคนสัตว์”
อริยสัจ ๔ ประการ
ความรู้จริงเรื่องของชีวิตมีธรรมชาติ ที่จะต้องเผชิญกับความทุกข์ ปัญหาความยาก ความลำบาก จะต้องต่อสู้กับอุปสรรคนั้น เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องรู้ประจักษ์แจ้ง อย่างถ่องแท้
ความรอบรู้บ่อเกิดของสมุฐาน ต้นตอเหตุที่มาของปัญหาความยุ่งยากสับสน คือตัวอุปาทาน ความสำคัญมั่นหมาย ทำให้หลงงมงายยึดมั่น ถือมั่นสำคัญตน ทำให้เกิดความโลภ ความใคร่ ความอยาก ความทะเยอทะยาน ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท และความหมกมุ่น ลุ่มหลงสำคัญตนด้วยประการต่าง ๆ ดังนั้นจะต้องใช้ดวงตาอันแหลมคมทำลายหมอกม่านภาพลวงตา (อุปทาน) ด้วยการมีสติปัญญา อันชาญฉลาด เป็นกุญแจดอกสำคัญของชีวิต เปิดประตูใจสู่อิสระเสรี ทำลายสิ่งสมมุติฐาน ทุกอย่างทุกประการสู่ความจริง คือแสงสว่าง ของชีวิต
มองเห็นชัดเจนแจ่มแจ้งอย่างทะลุปรุโปร่ง ว่าสรรพสิ่งตามความเป็นจริงมีความว่าง เป็นสภาพและดับเย็นสงบเป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของทุกชีวิตอยู่แล้ว คือเป็นสูญญตา ความว่างเป็นอนัตตาไร้ตัวตนคนสัตว์ เป็นภาวะที่ปราศจากการแยกแยะว่าเป็นอะไร ทั้งหมดทั้งสิ้น
ประจักษ์แจ้งความจริงถึงที่สุด คือความสมดุลย์ของชีวิต จะดำเนินชีวิตบนเส้นทางสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา ด้วยจักรเฟืองแห่งธรรมหมุนล้อแห่งชีวิตตามทางอริยมรรค ๘ ประการคือ ๑) ความเห็นชอบ ๒) ความดำริชอบ ๓) การพูดจาชอบ ๔) การทำการงานชอบ ๕) การมีอาชีพชอบ ๖) การมีความเพียรพยายามชอบ ๗) การมีสติชอบ ๘) การมีสมาธิความตั้งใจมั่นชอบ ซึ่งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะดับขันธปรินิพพาน ได้ทรงตรัสสอนสาวกองค์สุดท้ายชื่อ สุภัทรปริพาชก ว่าอริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นไปในธรรมวินัย ย่อมยังบุคคล ให้ได้อานิสงส์แห่งอริยบุคคล ภิกษุพึงอยู่โดยชอบไซร้โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์ ดังนี้
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย.....เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ไร้ตัวตน) เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ ที่ตนหลง นั่นแหละคือทางแห่งพระนิพพาน อันเป็นธรรมที่สงบ บริสุทธิ์ สะอาด หมดจด”
พุทธอุทานในอรุณรุ่งหลังทรงตรัสรู้
เมื่อเรายังไม่พบญาณ... ได้แล่นท่องเที่ยว ไปท่ามกลางสงสารเป็นเอนกชาติ เสาะแสวงหาอยู่ ซึ่งนายช่างผู้ปลูกเรือน คือวิ่งตามตัณหา ผู้สร้างภพ สู่การเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า การเกิดทุกคราว ต้องเป็นทุกข์ สู้ทนยากลำบากอยู่ร่ำไป
นี่แน่ะ!!! นายช่างผู้ปลูกสร้างเรือน... บัดนี้เรารู้จักเจ้าแล้วนะ!!! เจ้าจะมาทำเรือนให้เราไม่ได้ อีกต่อไปแล้ว!!! เพราะโครงเรือนทั้งหมดของเจ้า... เราหักเสียแล้ว ยอดเรือน... เรารื้อทิ้งไม่มีเยื่อใยอะไรเสียหมดแล้ว จิตของเราได้ถึงซึ่งที่สุด สภาพที่อะไร จะมาปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป... มันได้ถึงแล้ว ซึ่งความสิ้นไป ดับกระแสตัณหา เป็นความสงบร่มเย็นที่สุดของชีวิต..... คือถึงนิพพาน
ญาณทัศนะของพระพุทธเจ้า
ภิกษุทั้งหลาย!!! สิ่ง ๆ หนึ่งเป็นสิ่งซึ่งในนั้น ไม่มีดิน ไม่มีน้ำ ไม่มีลม ไม่มีไฟ ไม่ใช่ฌาน ที่เพ่งอากาศจนปราศจากอารมณ์ การรับรู้อันหาที่สุดมิได้ ไม่ใช่ฌานที่เพ่งความไม่มีอะไรอย่างสิ้นเชิง เป็นอารมณ์ ไม่ใช่สภาพจิตที่อยู่ในอารมณ์ ความจำได้หมายรู้ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีเลยก็ไม่เชิง อีกทั้งไม่ใช่โลกนี้ ไม่ใช่โลกอื่น ไม่ใช่พระจันทร์ หรือพระอาทิตย์ทั้งสองอย่าง
ภิกษุทั้งหลาย!!! ในกรณีอันเกี่ยวกับสิ่ง ๆ นั้น เราไม่กล่าวว่ามีการมา ไม่กล่าวว่ามีการไป ไม่กล่าวว่ามีการหยุด ไม่กล่าวว่ามีการเกิดขึ้น ไม่กล่าวว่า มีการดับไป สิ่งนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นไป และสิ่งนั้นไม่ใช่อารมณ์ นั่นแหละคือที่สุดแห่งทุกข์ คือนิพพาน ความว่าง สงบร่มเย็นที่สุดของชีวิต
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะมีปกติสอนชี้ตรงตัวชีวิตให้มองเห็นตามความเป็นจริงว่าชีวิตเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน สังขารอันเกิดจากการปรุงแต่ง เป็นบ่อเกิดของความทุกข์ และทุกสรรพสิ่ง ไร้ซึ่งตัวตนคนสัตว์ จะยึดมั่นถือมั่นสิ่งใด ๆ ไม่ได้ทั้งนั้น โดยทรงแยกแยะให้ได้มองเห็นว่า
“รูปร่างกายล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เวทนาความรู้สึกทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาสัญญาความจดจำ ทุกอย่างเป็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา สังขารการปรุงแต่งต่างๆ นานาเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วิญญาณการรับรู้อารมณ์ทั้งหลายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา”
รวมทั้งสรรพสิ่งล้วนเป็นอนิจจัง ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน และเป็นอนัตตาไร้ความเป็นตัวตนคนสัตว์ จะยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดไม่ได้ ทรงเน้นให้รู้เห็นเท่าทันความจริง แล้วปล่อยวางทำจิตใจให้ว่าง สงบอยู่เสมอ อยู่ในสูญญตาเป็นวิหารธรรม เป็นชีวิตปลอดโปร่งเบาสบายที่สุด…..
“สุญญตัป ปฏิสังยุตตา โลกุตตรา ธัมมา ธรรมทั้งหลายอยู่เหนือวิสัยโลกอันเนื่องอยู่ด้วย สูญญตา... อนิจจา วะตะสังขารา สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยงหนอ... อุปัททวา ยะ ธัมมิโน มีความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา... อุปัชฌิตวา นิรุต ฌันติ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป... เตสังวู ปสโม สุโข การเข้าไประงับสังขารเหล่านั้นเสียได้เป็นความสุข...”
ธรรมสายตรง
ดูก่อนโมคคัลลานะ!!! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้สดับว่าบรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ครั้นได้สดับดังนั้นแล้ว เธอทราบชัดธรรมทั้งปวง ด้วยปัญญาอันดียิ่งดังนั้นแล้ว เธอได้เสวยเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี เป็นทุกข์ก็ดี มิใช่สุขก็ดี มิใช่ทุกข์ก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่าย พิจารณาเห็นด้วยปัญญา เป็นเครื่องดับ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องสละคืนในเวทนานั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้นย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใด ๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมดับกิเลสให้สงบได้เฉพาะตัวและทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จะต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำอย่างนี้อีกมิได้มี ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรม ที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคะ ล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วน ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายฯ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!!! พรหมจรรย์นี้ เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคนให้มานับถือ มิใช่เพื่อให้คนมารู้จักตนด้วยคุณวิเศษ อย่างนั้นอย่างนี้ มิใช่เพื่อการได้ลาภสักการะเกียรติยศชื่อเสียง มิใช่สำคัญตนเป็นเจ้าสำนัก เจ้าลัทธิคณาจารย์ ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติ เพื่อความสำรวม เพื่อทำลายความหยิ่ง ความถือตัว เพื่อทำลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์”
พระพุทธโอวาทครั้งสุดท้าย
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย!!! สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำ ความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด... นี่เป็นวาจา มีในครั้งสุดท้ายของพระตถาคตเจ้า......”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ได้ทรงถ่ายทอดธรรมให้แก่พระมหากัสสปะ อย่างไร้เสียงว่า “จิตหนึ่งซึ่งเป็นเนื้อหาอันแท้จริงของทุกสรรพสิ่งนั้น เป็นสิ่งที่แผ่กว้างควบคู่กันไปเป็นเนื้อเดียว กับความว่างและบรรจุเต็มอยู่ทั่วในทุกสรรพสิ่ง ที่ปรากฏอยู่ในโลก นี่แหละคือสิ่งที่เรียกว่าบทบัญญัติของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย…..”
ณ ยอดเขาคิชกูฏ ท่ามกลางบริษัทในกาล ครั้งนั้นท้าวมหาพรหมได้ถวายดอกบัวแด่ พระโลกนาถเจ้า เมื่อทรงรับแล้วและทรงจับดอกบัว ชูขึ้นเป็นนัยยะปริศนา แล้วประทับนิ่งสงบมิได้ ทรงตรัสถ้อยคำใด ๆ ท่ามกลางความเงียบสงบนั้น มีเพียงพระมหากัสสปะที่หยั่งรู้ความหมายและได้แสดงกิริยายิ้มน้อย ๆ เป็นประกายฉายความรู้สึกลึกซึ้งต่อสภาพความนิ่งสงบและสว่างไสวของจิตใจที่ว่างจนไร้คำอรรถาธิบาย และพระพุทธองค์ ได้ทรงยกย่องถึงขนาดแลกเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิและบาตร กับพระมหากัสสปะผู้เป็นสาวกเพียงองค์เดียวเท่านั้น และถือเป็นธรรมเนียมถ่ายทอดธรรมจากจิตสู่จิต โดยชี้ตรงตามอุปนิสัยโดยเฉพาะเป็นสิ่งที่จะต้องประจักษ์แจ้งรู้ซึ้งถึงสัจธรรมความจริงของชีวิต ได้ด้วยตนเองตั้งแต่นั้นมาจนตราบทุกวันนี้
สัจธรรมคำสอนของพระโพธิธรรม
ท่านโพธิธรรมถ่ายทอดธรรมะคือ จิตหนึ่งนี้เท่านั้น ไม่มีอะไรที่นอกเหนือกว่านี้อีกเลย ท่านได้เน้นชี้ตรงสู่ความจริงที่ว่า สัตว์โลกทั้งหลาย ต่างก็มีเนื้อหาเป็นอันเดียวกันกับพุทธะอยู่แล้วตลอดเวลา เพียงแต่ทำความเข้าใจต่อจิตให้สำเร็จเท่านั้นก็จะพบธรรมชาติเดิมแท้ของจิตพุทธะ ได้จากภายในใจ ไม่ต้องสิ้นเปลืองเวลาท่องเที่ยว เสาะแสวงหาจากที่ไหนเลย
จงมุ่งเป้าสู่ใจที่ว่างเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งปราศจากความรู้สึกอันหลากหลายนานาชนิด หรือการหลอมรวมเป็นหนี่งเดียว เป็นสิ่งที่ปราศจากความเป็นเหตุและความเป็นผลเป็นต้น ที่ว่าวิธีหลายแบบที่พระพุทธเจ้าท่านนำมาใช้สอนเป็นแค่เพียงฐานะอุบายล้วน ๆ เพื่อปลดเปลื้องสัตว์โลกที่ยังหมก จมอยู่ในความหลงผิดเต็มที่เท่านั้นเอง
ท่านโพธิธรรมกล่าวว่า จิตที่เป็นธรรมชาติ เดิมแท้ของคนเรานั้น อันเป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งปวง เป็นสิ่งซึ่งใครจะทำให้เกิดขึ้นหรือทำลายไม่ได้ ถึงแม้นมันจะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นปรากฎการณ์หลากหลาย แต่ในขณะที่มันมิได้ตอบสนอง มันก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกกล่าวถึง ในการที่จะบัญญติว่า เป็นความมีอยู่หรือความไม่มี ยิ่งไปกว่านั้นขณะที่มันทำหน้าที่ตามกฏแห่งเหตุปัจจัยเป็นเหตุและผล แก่กันและกันมันก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรู้สึกได้ โดยทางอายตนะอยู่นั้นเอง จงเพียงแต่อยู่อย่างสงบเงียบสนิทในภาวะแห่งความว่าง ปราศจากความรู้สึกว่าเป็นอะไร นั้นคือขณะแห่งการเดินตามทางของพระพุทธเจ้าทั้งหลายโดยแท้
ศูนย์รวมโดยตรงของทุกสิ่ง ต้องมุ่งสู่จิตใจ ของคน ซึ่งโดยจิตเท่านั้นเขาสามารถรู้แจ้งเห็นจริง ถึงธรรมชาติเดิมของเขาเอง และเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยจิตนั้นเอง
ท่านโพธิธรรม ท่านชี้ตรงไปยังทุกสิ่ง ล้วนคือจิตและจิตก็คือพุทธะมันจะรวมทุกสรรพสิ่งเข้าไว้ในตัวมัน รวมทั้งพระพุทธเจ้าและสัตว์โลกทั้งหลายย่อมมีส่วนแห่งธรรมชาติของความเป็นพุทธะ เท่ากันหมด เพียงแต่สามารถเข้าใจในจิตหนึ่งนี้ ให้สำเร็จจากการค้นพบความจริงอันเป็นธรรมชาติเดิมแท้เช่นนี้เท่านั้น มันจะเป็นที่แน่นอนว่าไม่มีอะไรเลยที่จะต้องเสาะแสวงหาอีกต่อไปแม้แต่นิดเดียว
จิตของพวกเราทุกคนเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธะมาแล้วตั้งแต่แรกเริ่มเดิมที และไม่มีทางที่จะแยกกันได้แต่อย่างใดเลย เพราะว่าทุกคนมีส่วนแห่งธรรมชาติของความเป็นพุทธะเท่ากันหมด และมีเนื้อหา เป็นอันเดียวกันกับพุทธะอยู่ตลอดเวลา
ธรรมะไม่อาจจะบรรยายได้ด้วยคำพูด และพุทธะก็ไม่อาจจามองเห็นได้ด้วยตาหรือสัมผัสได้ด้วยมือเพราะความจริงของสิ่งทั้งสองนั้นก็คือ “จิต” ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวงนี่คือสัจธรรม เพียงหนึ่งเดียว
สิ่งที่ทุกคนมีส่วนร่วมประกอบโดยปราศจากการแบ่งแยกแยะเป็นนั่นนี่!!! นั้นแหละ...คือ “พุทธะ” ซึ่งอยู่ในจิตของทุกคน จงทำให้ว่าง...ทั้งกายทั้งใจโดยสิ้นเชิง ซึ่งนำไปสู่การเพิกถอนเสีย ซึ่งความรู้สึก (ยึดติดสิ่งสมมุติ) ต่าง ๆ ทางอายตนะ ในการทำให้ว่างไปโดยสิ้นเชิงนี้เอง ทางสู่ความเป็นพุทธะทั้งหลายได้เป็นไปอย่างรุ่งเรือง และในขณะเดียวกัน จากการ (ยึดติดสิ่งสมมุติ) เที่ยวแยกแยะออกไปว่าเป็นนั่น เป็นนี่ อย่างตรงกันข้ามเป็นคู่ ๆ (คติทวินิยม) นั่นแหละ ฝูงปีศาจร้าย ก็รุ่งเรื่องโชติช่วง.....
ท่านโพธิธรรมได้เข้าฌานหันหน้าเข้าผนังถ้ำถึง ๙ ปี ท่านจะไม่ยอมหาทางที่จะนำตนให้มี ความคิดเห็นอะไรมากมาย โดยมุ่งสู่วิถีทาง การออกจากใจเสียให้หมดสิ้น แม้กระทั้งหลัก ซึ่งเป็นที่เกิดแห่งการประกอบกรรมต่าง ๆ นี่แหละ...คือทางลัดอย่างฉับพลันของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
ขณะที่มีการเห็นแจ้งต่อความเป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันของจิตและ “เนื้อหา” อันนั้นซึ่งก่อให้เกิดมีหลักสัจธรรมขึ้นมานั่นแหละ เป็นขณะที่อาจกล่าวได้อย่างแท้จริงว่า ขณะแห่งการเลิกล้างการพร่ำพูด การบรรยาย...
ธรรมชาติที่แท้ของจิตนั้นถ้าเข้าใจซึมซาบแล้ว คำพูดของมนุษย์ทุกภาษาไม่สามารถจะอรรถาธิบายหรือเปิดเผยมันได้ “ความตรัสรู้” คือความไม่มีอะไรให้ต้องบรรลุถึง และผู้ซึ่งได้ตรัสรู้แล้ว ก็จะไม่มีพูดว่า เขารู้อะไร!!!
ท่านโพธิธรรมได้กล่าวว่า แม้เราได้ถ่ายทอดให้แล้วซึ่งธรรมะแห่งจิต ธรรมะก็จะเป็นธรรมะไปได้อย่างไรกัน? เพราะว่าไม่ใช่ทั้งธรรมะ ไม่ใช่ทั้งจิต ที่สามารถมีอยู่อย่างความเป็นตัวเป็นตนเข้าใจได้ เช่นนี้เท่านั้น เธอจึงจะเข้าใจธรรมะซึ่งถ่ายทอดด้วยจิตถึงจิต...
จิตพื้นเกิดทุกสิ่งที่ปลูกจึงมี เพราะมีเรื่องอีก จึงเกิดเหตุและผล... ผลเต็มโพธิญาณก็สมบูรณ์ ดอกไม้บาน โลกธาตุก็บังเกิดขึ้น....
ฉันแต่แรกมาถึงแผ่นดินนี้ (ประเทศจีน) ก็ได้ถ่ายทอดธรรมช่วยผู้หลงงมงายอารมณ์ หนึ่งดอกไม้บานครบ ๕ กลีบแล้วที่สุดผลจะปรากฏขึ้นมาเองตามธรรมชาติ (คือยุคของท่านเว่ยหล่าง หรือฮุ่ยเหนิง สังฆปรินายกองค์ที่ ๖)
สัจธรรมคำสอนของพระเว่ยหล่าง (ฮุ่ยเหนิง)
จิตเดิมแท้ของเรา ซึ่งเป็นเมล็ดพืชหรือแก่นของการตรัสรู้นั้นเป็นของบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ และต้องอาศัยจิตเดิมแท้นี้เท่านั้นมนุษย์เรา จึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรง....
การที่ใครจะบรรลุอนุตระสัมโพธิได้นั้น ผู้นั้นจะต้องสามารถรู้แจ้งด้วยใจในธรรมชาติแท้ ของตัวเองหรือที่เรียกว่า “จิตเดิมแท้” อันเป็นสิ่งที่ใครสร้างขึ้นไม่ได้หรือทำลายให้สูญหายไปก็ไม่ได้ ชั่วเวลาขณะจิตเดียวเท่านั้น ผู้นั้นสามารถเห็นแจ้ง จิตเดิมแท้ได้โดยตลอดกาลทั้งปวง ต่อจากนั้น ทุก ๆ สิ่งก็จะเป็นอิสระจากการถูกกักขัง กล่าวคือ จะเป็นวิมุติหลุดพ้นไป ตถตา (คือความเป็น แต่ที่เป็นอยู่เช่นนั้นไม่อาจเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้) ปรากฎขึ้นเป็นครั้งเดียวหรือชั่วขณะจิตเดียว ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระจากความหลงได้ตลอดกาล ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ว่าสถานการณ์รอบข้างจะเป็นเช่นไร ใจของผู้นั้นก็จะยังคงอยู่ในสภาพแห่ง “ความเป็นเช่นนั้น” สถานะเช่นนี้ที่จิตได้ลุถึง นั้นแหละ... คือตัวสัจธรรมแท้ ถ้าสามารถเห็นสิ่ง ทั้งปวงโดยลักษณะการเช่นนี้ ก็จะได้รู้แจ้งจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นการตรัสรู้อันสูงสุด
โคลงโศลกสำนวนที่ ๑
ไม่มีต้นโพธิ์…
ทั้งไม่มีกระจกเงาอันใสสะอาด…
เมื่อทุกสิ่งว่างเปล่าแล้ว…
ฝุ่นจะลงจับอะไร ???
โคลงโศลกสำนวนที่ ๒
โพธิ์เดิมไร้ต้น...
กระจกยลแท่นหามีไม่...
เดิมทีไม่มีสิ่งใด...
ฝุ่นเกาะใส่ที่ใดกัน ???
โคลงโศลกสำนวนที่ ๓
อันโพธิ์นี้ไซร้ไร้ต้นใบ...
กระจ่างใสใช่คันฉ่องมิต้องหลง....
ไม่เคยมีตัวตนที่มั่นคง...
แล้วฝุ่นผงจะลงจับกับอะไร ???
โอ!!! ใครจะไปคิดว่าจิตเดิมแท้ นั้นเป็นของบริสุทธิ์อย่างบริสุทธิ์แท้จริง ใครจะไปคิดว่าจิตเดิมแท้นั้นเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจความต้องเป็นอยู่หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง.... ใครจะไปคิดว่าจิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวมันเอง อย่างสมบูรณ์แท้จริง…. ใครจะไปคิดว่าจิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลงอย่างนอกเหนือแท้จริง... ใครจะไปคิดว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากตัวจิตเดิมแท้....
สำหรับผู้ที่ไม่รู้จักจิตใจตัวเองว่าคืออะไร? ก็ป่วยการที่ผู้นั้นจะศึกษาพระพุทธศาสนา ตรงกันข้าม... ถ้าผู้ใดรู้จักจิตใจของตนเองว่าเป็นอะไร และเห็นด้วยปัญญาอย่างซึมซาบว่าธรรมชาติแท้ ของตนเองคืออะไรด้วยแล้ว ผู้นั้นคือวีระมนุษย์ คือครูของเทวดาและมนุษย์คือพุทธะ...
สัตว์โลกที่มีความรู้สึกนึกคิด ซึ่งเราหว่าน เมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้ลงในเนื้อนาแห่งความเป็นไปตามอำนาจแห่งเหตุแล้วจะเก็บเกี่ยวผลถึงพุทธภูมิ วัตถุมิใช่สัตว์ที่มีความรู้สึกนึกคิดเป็นสิ่งว่างเปล่า จากธรรมชาติแห่งพุทธะ ย่อมไม่หว่าน และไม่เก็บเกี่ยวเลย
เมื่อมีความประสงค์ที่จะรู้ธรรมแล้ว จงระงับใจไม่ให้คิดถึงสิ่งใด ๆ และทำในใจให้ว่างเปล่า ไม่คิดถึงทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว... (รู้จักสิ่งที่ไม่ดีและ ไม่ชั่ว) นั่นแหละคือธรรมชาติเดิมแท้หรือหน้าตาดั้งเดิมของเรา ธรรมะที่เราจะต้องรู้นั้น ไม่ใช่ความเร้นลับอะไร คือถ้าเรามองย้อนเข้าข้างใน ก็จะเห็นสิ่งซึ่งเร้นลับมีอยู่ภายในตัวเรานี่เอง
ธรรมชาติเดิมแท้ของเรานั้น คือธรรมชาติ แห่งความเป็นพุทธะ ถ้านอกไปจากธรรมชาตินี้แล้ว หามีพุทธะที่ไหนอีกไม่เลย ธรรมชาติของความเป็นพุทธะนั้นจะเป็นของถาวรตลอดอนันตกาลก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ถาวรก็ไม่ใช่ เพราะพุทธธรรมที่ปรากฏไม่มีทางถึงสองทาง ตามความคิดของคนทั่วไปนั้นเข้าใจว่า มีส่วนย่อย ๆ ของขันธ์และธาตุทั้งหลายนั้นเป็นของ ที่แบ่งแยกออกเป็นสองอย่าง แต่ผู้ที่ได้บรรลุธรรมแล้ว ย่อมเข้าใจว่าพุทธะนั้นไม่ได้เป็นของคู่เลย
ปัญญาที่ทำสัตว์ให้บรรลุถึงการตรัสรู้นั้น มีอยู่ในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว แต่เป็นเพราะมีอวิชชาความมืดบอดที่ครอบงำใจเราไว้ จึงไม่อาจมองเห็นมันด้วยตนเองจนเราต้องเที่ยวเสาะแสวงหาคำแนะนำจากผู้อื่นที่เขาได้เห็นแจ้งแล้วก่อนหน้าที่เราจะรู้จัก จิตเดิมแท้ของเราเอง ตามความจริงแล้วมันไม่มี ความแตกต่างอะไรกันระหว่างผู้เห็นแจ้งกับผู้มืดบอด
ใจนั้นเหมือนกับอวกาศ มันเป็นสิ่งที่บัญญัติไม่ได้ คือมันไม่ใช่ของกลมหรือของเหลี่ยม ไม่ใช่ของโตหรือของเล็ก ไม่ใช่สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว ไม่ใช่ของสูงหรือต่ำ ไม่ใช่ของสั้นหรือยาว ไม่ใช่ ความชังหรือความชื่น ไม่ใช่ความถูกหรือความผิด ไม่ใช่ของดีหรือของชั่ว ไม่ใช่ของอันแรกหรือของ อันสุดท้ายและไม่ใช่เป็นภูมิธรรมอันเดียวเรื่องเดียวเท่านั้นที่เราบรรลุถึงการตรัสรู้ ซึ่งมันเป็นของ สิ่งเดียวกันกับจิตเดิมแท้ อันเป็นภาวะแห่งความว่างแต่ประการเดียว
ความว่างอันไม่มีขอบเขตจำกัดของสากลจักรวาลเป็นสิ่งที่มีความจุมากพอที่จะรวมเอา สิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีรูปและสัณฐานแปลกแตกต่างรวมเข้า ไว้ในตัวมันได้ สิ่งเหล่านั้น เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวทั้งหลาย ภูเขา แม่น้ำ แผ่นดิน น้ำพุ ลำธาร พุ่มไม้ ป่าไม้ คนดี คนชั่ว ธรรมะฝ่ายดี ธรรมะฝ่ายชั่ว เมืองสวรรค์ เมืองนรก มหาสมุทร ภูเขาทั้งหลาย ในเทือกเขามหาสุเมรุ (หิมาลัย) อากาศนั้นซึมเข้าไปอยู่ทั่วสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนี้ทั้งหมดและ “ความว่าง” แห่งธรรมชาติแท้ของเราก็เข้าไปมี อยู่ในสิ่งต่างๆ อย่างเดียวกัน ที่ว่าจิตเดิมแท้ เป็นของใหญ่หลวงก็เพราะว่ามันรวมสิ่งต่างๆ เข้าไว้ทั้งหมด โดยที่สิ่งทุกสิ่งมันรวมอยู่ในตัวธรรมชาติแท้ของเรา ดังนั้นเมื่อเราพบเห็นความดีหรือความชั่ว ของบุคคลอื่น เราไม่ถูกดึงดูดให้ชอบหรือไม่ถูกมันผลักดันให้ชังหรือเราไม่เกาะเกี่ยวกับมัน เมื่อนั้นลักษณะแห่งจิตใจของเราเป็นของว่าง เท่ากันกับอวกาศ
โดยเหตุที่ใจนั้นสิงซึมตลอดทั่วสากลธรรมธาตุ (คือวงล้อแห่งธรรมณาจักรทั่วจักรวาล) เมื่อเรานำมาใช้ก็จะสามารถรู้อะไรได้หลายสิ่งจากสิ่งที่มีอยู่ทั้งหมด แต่เมื่อเราใช้มันอย่างเต็มขนาด เมื่อนั้นเราก็รู้ได้สารพัดสิ่งไม่มีอะไรเหลือ คือรู้ทุก ๆ สิ่งภายใน สิ่งหนึ่งและรู้หนึ่งสิ่งภายในทุก ๆ สิ่ง เมื่อนั้นแหละ ใจก็จะเป็นอิสระจะอยู่จะไปจะมาไม่มีติดขัด
จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์หมดจดเด็ดขาด และถ้าเราได้รู้จักจิตใจของตนเอง ผสานความรู้แจ้งถึงตัวธรรมชาติแท้ของเรา คืออะไรแล้ว? ทันใดนั้นเราจะตรัสรู้แจ่มแจ้งสว่างไสวได้รับใจของเราเองกลับคืนมา พร้อมกับได้บรรลุถึงพุทธภาวะได้ทุก ๆ คน
การเพ่งพิจารณาในภายใน เราจะมี ความสว่างไสวแจ่มแจ้งทั้งภายในและภายนอก และเราอยู่ในฐานะที่รู้จักใจของตนเอง การรู้จักใจ ของเราเองก็คือการลุถึงวิมุติ (การหลุดพ้นเป็นอิสระ) การลุถึงวิมุติก็คือการลุถึงสมาธิและปัญญาซึ่งเป็น “ความไม่ต้องคิด” (หยุดการคิดปรุงแต่ง) คือการเห็นและการรู้สิ่งทั้งหลายทั้งปวง (ตามที่เป็นจริง) ด้วยใจ ที่ไม่มีอะไรห่อหุ้มพัวพัน เมื่อเราใช้มัน มันแทรกเข้าไปได้ในทุกสิ่ง แต่ไม่ติดแจอยู่ในสิ่งใดเลย สิ่งที่เราจะต้องทำนั้นมีแต่การชำระจิตให้ใสกระจ่างแต่เพียง ประการเดียวเท่านั้น
โพธิเป็นสิ่งที่มีอยู่ประจำภายในจิตเดิมแท้ ของเราเองอยู่แล้ว การพยายามมองหาโพธิจากที่อื่นเป็นความเขลา จิตที่บริสุทธิ์นั้นจะหาพบได้ภายในจิตอันไม่บริสุทธิ์ของเรานั่นเอง ในทันใดที่เราดำรงจิตถูกต้องเราย่อมเป็นอิสระจากสิ่งบดบัง ๓ ประการ คือ ๑) กิเลส ๒) บาปกรรม ๓) การต้องทนใช้บาป อยู่ในนรก
ถ้าเราเดินอยู่ในมรรคาแห่งการตรัสรู้ เราไม่ต้องกลุ้มใจด้วยสิ่งที่จะทำให้เราสะดุดล้ม ถ้าเราคอยสอดสายตาระวังความผิดของเราอยู่เสมอ เราก็เดินไถลออกไปนอกทางที่ถูกไม่ได้ เพราะเหตุที่ชีวิตทุก ๆ แบบย่อมมีวิถีทางแห่งความรอดพ้น เฉพาะของมันเองทุกแบบ
ฉะนั้นชีวิตทั้งหลายจะไม่ก้าวก่ายหรือกระทบกระทั่งซึ่งกันและกัน ผู้ที่ด่วนเดินมุ่งแน่วไปตามทางที่ถูกต้องนั้นย่อมไม่มองเห็นความผิดต่าง ๆ ในโลกนี้ ถ้าเราพบความผิดในบุคคลอื่นเราเองก็ตกอยู่ในความผิดนั้นด้วยเหมือนกัน เมื่อผู้อื่นทำผิดเราไม่จำต้องเอาใจใส่เพราะมันจะเกิดความผิดขึ้นแก่เราเอง ในการที่จะไปรื้อหาความผิด โดยการสลัดนิสัยที่ชอบค้นหาความผิดของคนอื่นออกไปเสียจากสันดาน เราย่อมตัดวิถีทางของกิเลสได้เป็นอย่างดี
บุคคลใดตั้งใจจะเป็นครูสอนคนอื่น ๆ เขาเองควรจะมีความคล่องแคล่วในวิธีที่เหมาะสมนานาประการที่จะนำผู้อื่นเข้าถึงความสว่างไสว เมื่อศิษย์พ้นจากความสงสัยสนเท่ห์โดย ประการทั้งปวงมันย่อมแสดงว่าเขาได้พบจิตเดิมแท้ของเขาเอง
จักรวรรดิ์ของพระพุทธเจ้าอยู่ในโลกนี้ การที่เราจะเสาะแสวงความสว่างไสวในที่อื่นจากโลกนี้เป็นของพิลึกกึกกือ เหมือนกับเที่ยวหาเขากระต่าย สัมมาทิฏฐิเป็นสิ่งถูกขนานนามว่า “เลิศเหนือโลก” มิฉาทิฏฐิ เป็นสิ่งที่ถูกขนานนามว่า “ข้องอยู่ในโลก” เมื่อทิฏฐิทั้งสองอย่าง ไม่ว่าสัมมาทิฏฐิหรือ มิจฉาทิฏฐิถูกสลัดพ้นออกไปเมื่อนั้นโพธิ์แท้ย่อมปรากฎ นี่คือวิถีทางฉับพลันที่ถูกขนานนามว่า “มหาธรรมนาวา” สู่การตรัสรู้เข้าถึงพุทธภูมิ...
ผู้มีใจเที่ยงธรรมการรักษาศีลไม่ใช่สิ่งจำเป็น ผู้มีความประพฤติตรงแน่ว การปฏิบัติในทางฌาน มันจะมีมาเอง (แม้ไม่ตั้งใจทำ) สำหรับหลักแห่งความกตัญญูกตเวทีนั้นเราอุปัฏฐากบิดามารดารับใช้ท่านอย่างฐานลูก สำหรับหลักแห่งความเป็นธรรมนั้น ผู้ยิ่งใหญ่กับผู้ต่ำต้อยยืนเคียงข้างอาศัยกันและกัน (ในคราวคับขัน) สำหรับหลักแห่งขันตินั้นเราไม่ให้มีการทะเลาะเบาะแว้งแม้จะตกอยู่ในท่ามกลาง หมู่อมิตรอันกักขฬะ ถ้าเรามีความเพียรรอคอยจนได้ไฟอันเกิดจาการเอาไม้มาสีกัน เมื่อนั้นบัวสีแดง (พุทธภาวะ) ก็จะโผล่ออกมาจากตมสีดำ สิ่งที่มีรสขม ย่อมถูกใช้เป็นยาที่ดี สิ่งที่ฟังแล้วไม่ไพเราะหู นั่นคือ คำตักเตือนอันจริงใจของผู้เตือนที่แท้จริง จากการแก้ไขความผิดให้เป็นของถูก เราย่อมได้รับสติปัญญา โดยการต่อสู้เพื่อรักษาความผิดของตัวไว้ เราแสดงนิมิตแห่งความมีจิตผิดปกติออกมา....
การบำเพ็ญสมาธิภาวนาที่ถูกวิธีนั้น ได้แก่ การทำเป็นระบบระเบียบเป็นบรรทัดฐานเพื่อให้ชีวิต มีมาตรฐานตรงแน่วในทุกโอกาส ขณะเดิน ยืน นั่ง หรือนอนต้องมีสติให้ตรงแน่วอยู่ในสมาธิภาวนาจริงๆ อย่าเป็นคนเหลวไหลเหลาะแหละ ปล่อยใจให้คดเคี้ยวไปมาอย่าสักแต่ว่าทำเพียงแค่พิธีผิวเผินเล่นลิ้น แค่ริมฝีปาก การบำเพ็ญจิตทำสมาธิภาวนาที่แท้จริง ต้องไม่มีการผูกพันตัวเองกับสิ่งใด ๆ จะเปลื้องตน ออกจากความหลงงมงายโดยไม่ยึดติดอยู่กับ ท่าทีกิริยาอาการเสแสร้งด้วยลักษณะอันเคร่งขรึมหรือมิใช่การนั่งอย่างเงียบติดต่อกันไป โดยไม่ให้ความคิดอันหนึ่งอันใดเกิดขึ้นในจิตใจ การทำดังนี้ ก็เหมือนวัตถุที่ไร้วิญญาณทั้งหลายและยังจะทำให้เป็นอุปสรรคกีดขวางต่อหนทางตรง ดังนั้น เราจะต้องทำใจให้เปิดโล่งอยู่เสมอไม่ข้องและยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย... นี่แหละคือทางสายตรง
ความไม่ตกอยู่ภายใต้วิสัยของอารมณ์ คือมูลรากอันเป็นประธานสำคัญ โดยไม่ให้อารมณ์ ถูกดึงดูดเอาไป ในเมื่อรู้สึกสัมผัส ไม่ปล่อยตนให้ถูกลากกระชากเป็นคนเจ้าอารมณ์ ทำให้เกิดปัญหาความคิดอันแตกแยกแต่อย่างหนึ่งอย่างใด ในขณะกำลังบำเพ็ญภาวนาจิตต้องไม่ข้องติด นั่นหมายถึงลักษณะเฉพาะแห่งจิตเดิมแท้นั้นเอง…
สิ่งทุกสิ่งไม่ว่าดีหรือเลว สวยงามหรือ น่าเกลียดควรมองให้เห็นเป็นของว่างอย่างเดียวกันและไม่นึกถึงการแก้แค้น ในการฝึกความนึกคิด ของตนเองจะปล่อยให้อดีตเป็นอดีต อย่าเผลอ ปล่อยตนคิดถึงอดีต ปัจจุบัน และอนาคต มาปะติดปะต่อกันเป็นห่วงโซ่อยู่กับกรอบกงขัง ฉะนั้นอย่าปล่อยใจให้ข้องติดอยู่กับสิ่งใด ๆ เราก็จะบรรลุถึงความหลุดพ้น ซึ่งถือว่าเป็นหลักประธานสำคัญ ต่อการบำเพ็ญภาวนา....
จงดำรงใจไว้ให้เป็นอิสระจากการครอบงำของสิ่งแวดล้อมทุก ๆ ลักษณะไม่ให้มีอำนาจอิทธิพลในทุกกรณี ใจของเราจะอยู่สูงเหนือสิ่งต่าง ๆ ที่แวดล้อมเรา คือการที่ใจของเราได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ แต่ทว่ามีการสอนให้บีบบังคับใจไม่ให้คิดอะไรเสียหมด แม้เราจะทำได้สำเร็จแต่มันก็เป็นความ ผิดธรรมชาติอย่างใหญ่หลวงในการเร้าใจให้ผู้อื่น พากันทำตามเป็นบริวารเช่นนั้น...
การบำเพ็ญสมาธิภาวนาที่จะทำให้ก้าวหน้าพัฒนาสู่สติปัญญาญาณนั้น ไม่ใช่จะต้องหลับตาหรือหรืออุดหูเก็บตัวเงียบเพื่อหลีกจากอารมณ์ภายนอกเท่านั้น... ตามหลักทางลัดฉับพลันเราทุกคนสามารถเข้าถึงพุทธภาวะได้โดยจัง ๆ หน้ากับอารมณ์ ชนิดเผชิญกับความจริงโดยมิต้องหวั่นไหวใด ๆ อยู่เหนือโลกสู่โมกขธรรม
ตัวแท้ของตถตา ซึ่งแบ่งบานขึ้นถึงระดับเด่นชัดนั้นต่างหากที่ทำให้กำเนิดกระแสความรู้สึกแบ่งแยกอะไรต่าง ๆ อย่างตรงกันข้าม หาใช่เพราะอวัยวะสำหรับรู้สึกในอารมณ์แต่ประการใดไม่ ตถตาย่อมทรงไว้ซึ่งคุณลักษณะของตัวมันเอง ปราศจากตถตาเสียแล้ว อวัยวะสำหรับรู้สึกอารมณ์ต่าง ๆ ของเราไม่จำเป็นจะต้องพลอยด่างพร้อยหรือเศร้าหมองไปด้วยในทุก ๆ เหตุการณ์แม้ว่ามันจะทำหน้าที่ในการดู การฟัง การสัมผัส การรับรู้ก็ตาม เพราะฉะนั้นตัวภาวะแท้ของเราก็ยังแสดงตัว ให้ปรากฏได้ทุกเวลาเพราะจิตเดิมแท้ซึ่งเป็นตัวสำแดงแห่งความว่างนั้น ไม่มีอะไรสำหรับให้ใครลุถึงเสียเลย ผู้ที่มีความเข้าใจอันถูกต้องก็จะมีความคล่องแคล่ว ในการแยกแยะธรรมลักษณะนานาประการ จักเป็น ผู้ตั้งอยู่อย่างไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในธรรมอันเอก กล่าวคือแดนอันสงบเย็นของพระอริยะหรือนิพพาน
ระบบการปฎิบัติธรรมเจริญกัมมัฏฐานภาวนา ไม่จำเป็นต้องกำหนดลงไปที่จิตหรือกำหนดลงไปที่ความบริสุทธิ์ หรือว่าไปจับเอาที่ตัวความหยุดนิ่ง ปราศจากการเคลื่อนไหวทุกประการก็หาไม่ การกำหนดจดจ่อไปที่จิตไม่ควรทำเพราะจิตเป็นเพียงมายา ส่วนการกำหนดลงไปที่ตัวความบริสุทธิ์นั้นเล่า ตัวธรรมชาติเดิมแท้ของเราก็บริสุทธิ์อยู่แล้ว ถ้าเราเพ่งจิตกำหนดไปที่ความบริสุทธิ์ก็จะสร้างอวิชชาเป็นกำแพงขึ้นมาบดบังคือ อวิชาแห่ง ความบริสุทธิ์ เพราะเหตุที่อวิชาไม่มีที่ตั้งอาศัย จึงเป็นความเขลาที่จะอิงอาศัยมัน ตัวความบริสุทธิ์ ไม่มีสัณฐานไม่มีรูปร่าง แต่มีคนอุตริถึงกับประดิษฐ์รูปร่างของความบริสุทธิ์ขึ้นมาแล้วก็กุลีกุจออยู่กับมันในฐานะเป็นปัญหาสำคัญของความหลุดพ้น
สำหรับผู้ฝึกตัวอยู่ในความแน่วแน่ไม่หวั่นไหว แม้จะเผชิญกับคนทุกชนิดก็จะไม่รู้ ไม่เห็นความผิดของผู้อื่นอยู่เสมอ จะไม่มีความวิปริตผิดแปลกอะไรเมื่อประสบบุญหรือบาป ความดีหรือความชั่วของผู้อื่น นี่คือลักษณะของความแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวของจิตเดิมแท้ ส่วนผู้มีจิตยังมืดมนนั้น อาจมีท่าทีทำสงบทางร่างกายภายนอกดูดี แต่พอเผยอริมฝีปากเท่านั้นเขาก็ติชมวิพากษ์วิจารณ์คนอื่นด้วยเรื่องบุญบาป ความสามารถ ความอ่อนแอ ความดีความชั่วของคนเหล่านั้น นั่นแหละเป็นการ เฉออกไปนอกทางสัมมาปฏิบัติและอีกฝ่ายหนึ่ง การที่จ่อง่วนอยู่ที่จิตหรือความบริสุทธิ์ก็จะกลายเป็นสิ่งสะดุดกีดขวางหนทางด้วยเหมือนกัน
จุดมุ่งหมายของการเข้ากัมมัฏฐานภาวนาจะต้องเพื่อการได้รับอิสรภาพอันเด็ดขาดและมี จิตสงบได้ทุกกรณีที่สิ่งแวดล้อมเข้ามาจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายดีหรืออะไรมาก็จะมีความแน่วแน่ ไม่หวั่นไหวด้วยการเห็นชัดแจ้งภายในต่อจิตเดิมแท้
การเข้าฌานหมายถึง การหลุดพ้นจากความพัวพันด้วยอารมณ์ภายนอกทุกประการ และเป้าหมายของการทำสมาธิก็เพื่อให้ได้รับศานติภายใน ถ้าเราพัวพันอยู่กับอารมณ์ภายนอก จิตภายในก็จะปั่นป่วน จิตเดิมแท้ของเราเป็นของบริสุทธิ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ผู้ที่สามาราถรักษาจิตใจให้แน่วแน่ไม่หวั่นไหวต่อจิตเดิมแท้ ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสิ่งแวดล้อมชนิดไหนทั้งหมดนั่นแหละ!!! ชื่อว่าได้บรรลุถึงฌานสมาธิมีจิตสงบได้ในทุกขณะเวลา ตลอดกาลทุกเมื่อ
สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่งอย่าให้สติรั่ว!!! อย่าปล่อยให้พลังงานทางกายและพลังจิตถูกใช้ไป ผิดทางไปในทางยึดมั่นถือมั่นสำคัญตนต่อสิ่งทั้งปวง เพราะไม่ใช่ทางที่จะพึงเอาเป็นสิ่งคุ้มกันอะไรได้ อย่างแท้จริง
ดังนั้นจึงควรอย่างยิ่งที่จะทุ่มเทพลังศรัทธาและพลังทุกอณูแห่งสติปัญญา ถึงพระรัตนตรัยคือพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ภายในตัวเราเองเถิด โดยวิธีดังนี้ในภายในเราบังคับใจของเราเอง ภายนอก เราจะนอบน้อมต่อผู้อื่น... นี่แหละคือวิถีทางการถือ ที่พึ่งพระพุทธเจ้ารวมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์ภายในตัวเราเอง
ในการน้อมใจของเราถือเอาพระพุทธเจ้า คือการถือเอาความถูกต้องตามธรรมแท้เป็นที่พึ่ง จนถึงกับเป็นอิสระอยู่เสมอจากความเห็นผิด ถ้าปราศจากความเห็นผิด ก็จะไม่เกิดความยึดถือตัวตน ความเย่อหยิ่ง ความทะเยอะทะยาน นี่แหละคือหนทางอันประเสริฐที่จะตัดกระแสตัณหา ด้วยอาศัยความรู้แจ้งกระจ่างถึงจิตเดิมแท้บริสุทธิ์อยู่โดยธรรมชาติ จนถึงกับไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางสถานการณ์ใด ๆ ก็ไม่ถูกทำให้แปดเปื้อนด้วยวัตถุกามารมณ์อันน่าขยะแขยง ด้วยความทะเยอทะยานตามกระแสตัณหา นั่นแหละคือคุณชาติอันประเสริฐของการได้เกิดมาเป็นคน ดังนั้น การที่จะถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งย่อมหมายถึงการทำที่พึ่ง ภายในตัวเรา คือการประจักษ์แจ้งถึงจิตเดิมแท้ อันเป็นธรรมชาติจากภายในใจ ถ้าไม่รู้จักใจ ของตนเองแล้วจะรู้จักพระพุทธเจ้าได้อย่างไร? จนกว่าเมื่อไหร่เราสามารถผสานความเป็นหนึ่ง กับธรรมชาติได้จนกลมกลืนกับความจริง ได้ในทุกโอกาส นั่นแหละคือสุดยอดแห่งบุญและปัญญา อันเป็นหนทางแห่งมรรคปฎิปทาเป็นหนทางที่สุดยอดแล้ว....
การถือที่พึ่งในพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ย่อมจะพรากสิ่งต่อไปนี้ออกเสียจากจิตใจคือจิตต่ำชั่วจิตสอพลอคด ๆ งอ ๆ ความถือตัวสำคัญตน ความคตโกงและมดเท็จ ความดูถูกดูแคลน ความยะโสโอหัง ความเห็นผิด ความเย่อหยิ่งจองหอง และความต่ำทรามอื่น ๆ อันจะเกิดขึ้นในจิตไม่ว่าเวลาใด ๆ จะมีความเชื่อมั่นในตนเองมีสติระวังระไวอยู่ตลอดเวลาในการที่จะไม่ทำความชั่วความผิด และจะงดขาดจากการวิพากษ์วิจารณ์ความดีหรือความผิดของบุคคลอื่น ๆ เป็นผู้อ่อนน้อมถ่อมตน อยู่เสมอทุกโอกาส จะมีอัธยาศัยสุภาพต่อทุก ๆ คน ผู้ที่ได้เห็นแจ่มแจ้งจิตใจของตนเอง ก็จะส่งผลให้รู้จักจิตใจของผู้อื่น จนถึงกับหนทางข้างหน้าของเขาจะปราศจากอุปสรรคทุกประการ นี่แหละ... คือการถือพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งจาก ภายในตัวเรา
เมื่อสามารถเปลื้องตนเองออกจาก ความผูกพันอยู่กับวัตถุต่างๆ ที่มีลักษณะหลากหลายและขจัดความเห็นผิดเรื่องความขาดสูญอันเกี่ยวกับคำสอนเรื่องสูญญตา เมื่อทำได้เช่นนี้ก็จะหลุดพ้นอิสระจากอวิชชาความหลงผิดในภาพมายาทั้งภายในภายนอก หัวใจจะมีความสว่างไสวแจ่มแจ้ง เห็นความจริงตามธรรมชาติซึ่งถือว่าเป็นการเปิดตา เพื่อการเห็นแจ้งพุทธธรรมภายในของตนเอง
พระพุทธองค์ผู้ทรงพระมหากรุณาได้ทรงแสดงศานติแห่งนิพพาน ย่อมไม่มีปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงหรือการแตกดับ ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้นหรือความแตกดับ นิพพานเป็นการแสดงออกของ “ความหยุดได้โดยสมบูรณ์” ผู้ที่จิตใจสูงเหนือสิ่งทั้งหลายเหล่านั้นจะรู้ได้เฉพาะตนว่านิพพานคืออะไร วางตนไว้ในลักษณะที่เข้าพัวพันด้วยก็ไม่ใช่ เฉยเมยก็ไม่ใช่ ทั้งสองอย่าง ย่อมรู้ว่าขันธ์ห้าที่ผู้คนเข้าใจว่าเป็นตัวตนอันเกิดจากการประชุมของสังขารการปรุงแต่งรวมทั้งวัตถุและรูปธรรมภายนอกทุกชนิด และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของศัพท์และสำเนียงภาษาที่ใช้สื่อสารล้วนแต่เป็นเพียงสิ่งสมมุติเทียบเคียงมิใช่ความจริงมันเป็นเหมือนความฝันภาพลวงแห่งมายาเสมอภาคกันหมด ตามความจริงแล้วสรรพสิ่งล้วนเป็นของว่าง ไร้ชื่อไร้ความแตกต่างกันระหว่างพระมุนีกับคนธรรมดา นิพพานมิสามารถที่จะเปรียบเทียบว่า เป็นอะไรได้ เพราะอยู่เหนือการรับและการปฏิเสธ สิ่งที่ว่าเป็นอดีต ปัจจุบันและอนาคต เป็นประดุจภาพอันเลือนลางไร้ตัวตนที่จะยึดถือไขว่คว้าเอาไว้ได้ เมื่อจำเป็นก็จะระบุเจาะจงสิ่งต่าง ๆ ว่าเป็นนั่นนี่ได้ทุกอย่าง จะใช้อวัยวะสัมผัสและรู้สึกได้ตามปกติตามความเหมาะสม แต่ว่าความรู้สึกยึดถือในสิ่งสมมุตินั้นมิได้มีเลยแม้ขณะที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลกในที่สุด ของกัลป์จนท้องมหาสมุทรเหือดแห้งไป หรือลมประลัยพัดทำลายโลกจนภูเขาล้มชนกันระเกะระกะนิพพานความหยุดได้โดยสมบูรณ์และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลงจะคงอยู่ในสภาพเดิม
การเห็นแจ้งจิตใจอันเป็นธรรมชาติเดิมแท้ที่ว่างอยู่แล้วก็จะดำรงตนเป็นอิสระจากการเวียนเกิด จัดการกับปัญหาข้อนี้ให้ลุล่วงไปได้เพียงข้อเดียว สิ่งที่เกิดจากปัญาหาเรื่องความแปรปรวนไม่เที่ยงแท้แน่นอนทั้งหลายแหล่ ก็จะไม่มีเหลืออีกต่อไป ขันธ์ทั้งห้าเป็นของว่าง อายตนะภายนอกทั้งหก เป็นของว่างจากตัวตน การทำสมาธิภาวนาไม่ใช่จะต้องเข้า ๆ ออก ๆ ไม่มีทั้งความเงียบหรือความวุ่นวายธรรมชาติของฌาน ไม่ใช่เป็นความเข้าอยู่ ดังนั้นจึงควรอยู่เหนือภาวะแห่ง “การเข้าอยู่ ในความสงบแห่งฌาน” เพราะธรรมชาติของฌานไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นได้ และภาวะของจิตนั้นอาจเปรียบได้กับอวกาศซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขตปราศจากการจำกัด เป็นธรรมชาติที่เรียบง่ายผสานสรรพสิ่งอย่างธรรมดาที่สุด
จงทำใจให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่าง อันหาขอบเขตมิได้ แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฎฐิว่า “ดับสูญ” จงให้ใจทำหน้าที่อย่างอิสระเสรี ขณะกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงขจัดความรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างอริยะบุคคลกับบุคคลธรรมดา อย่าไปคิดว่ามีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำและสิ่งที่ถูกทำ และจงขจัดความรู้สึกว่ามีเรามีผู้อื่น จงปล่อยให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ อย่าได้เกาะเกี่ยวกับสิ่งใดจงปล่อยวางจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวงให้กลมกลืนกับธรรมชาติที่เรียบง่ายตามสภาพที่บริสุทธิ์ของมันเอง นี้คือการอยู่ในฌานสมาธิที่ปราศจากการเสแสร้งดัดจริต อันเป็นความสงบและสมถะอยู่ในสูญญตาวิหารธรรมตลอดเวลา
วิถีที่จะทำให้คุ้นชินกับธรรมชาติของสรรพสิ่งภายในจิต และโดยวิธีนี้เท่านั้นที่จะนำสู่การตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ การรู้จักพระพุทธเจ้า ไม่ได้มีอะไรนอกเหนือไปจากการเป็นกัลยาณมิตร กับสัตว์ทั้งหลายซึ่งมีพุทธะอยู่โดยอานุภาพปราศจากความแตกต่างระหว่างผู้รู้กับสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ภายในจิตของเรามีพุทธะอยู่โดยธรรมชาติและพุทธะที่อยู่ในนั้นเป็นสัจธรรมความเป็นจริงที่สุด ถ้าไม่ค้นหาพุทธเจ้าภายในจิตของเราแล้ว จะไปหาพุทธเจ้าที่แท้จริงได้จากไหน? อย่าได้สงสัยเรื่อง การเข้าถึงสัจธรรมแห่งพุทธะภายในจิตของเราท่านทั้งหลาย นอกจากที่นั่นแล้วไม่มีอะไรจะปรากฏขึ้นได้ เนื่องจากปรากฏการณ์ของสรรพสิ่งเป็นผลิตผล อันเกิดมาจากจิต เมื่ออาการของจิตเริ่มขึ้นสิ่งต่างๆ ก็ปรากฎ เมื่ออาการของจิตดับลงสรรพสิ่งทั้งหลาย ก็ดับไร้ร่องรอย ไร้รูป ไร้นามเป็นอนัตตาไร้ตัวตน
หลักธรรมนั้นจะตระหนักชัดได้ด้วยจิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนั่งขัดสมาธิ เป็นความเข้าใจผิดที่ใครจะยืนยันว่า ตถาคตมาหรือไปและนั่งหรือนอน เพราะว่าสมาธิอันบริสุทธิ์ของพระตถาคต ไม่ได้หมายความว่ามาจากแห่งใดหรือจะไปที่ใด ไม่ได้หมายความว่ามีการเกิดหรือการดับ ธรรมทั้งหลายย่อมว่างและสงบโดยทำนองเดียวกัน บัลลังก์แห่งความบริสุทธิ์ไม่มีแม้แต่สิ่งเหล่านี้ ที่จะบรรลุได้ด้วยเหตุนี้ ทำไมจะต้องทรมานตัวเอง ด้วยการนั่งขัดสมาธิ
สิ่งที่ควรทำก็คือ จงรู้จักจิตของเราเองและตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะจากภายในตัวเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สงบนิ่งหรือเคลื่อนไหว ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มา ไม่ไป ไม่รับ ไม่ปฏิเสธ ไม่คงอยู่ ไม่จากไป เมื่อมองเห็นและปฏิบัติจนสามารถตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้ของจิตเช่นนี้ไม่เป็นการฝืนธรรมชาติ จนอยู่เหนืออารมณ์เหนือเหตุผลเหนือโลก
ด้วยความเยือกเย็นและไม่กระวนกระวาย บุคคลชั้นเลิศไม่ต้องปฎิบัติความดีด้วยความ เที่ยงธรรมและเป็นตัวของตัวเอง ท่านไม่ต้องกระทำบาป ด้วยความสงบและสงัดท่านเพิกเฉยการดูและ การฟัง ด้วยความเสมอภาคและเที่ยงตรง จิตของท่านไม่ข้องแวะและพำนัก ณ ที่ใด
สรรพสิ่งทั้งหลายไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ดังนั้นควรเปลื้องตนออกเสียจากความคิดเห็นถึงความ มีอยู่จริงของวัตถุทั้งสิ้น ใครที่สำคัญผิดยึดติดในความเป็นนั้น เป็นนี่ของสิ่งทั้งปวง ย่อมถูกผูกพันธนาการกับความคิดเห็นเช่นนั้นซึ่งล้วนแต่เป็นภาพลวง แม้ปรากฏการณ์อันหลากหลายที่ปรากฏให้เห็น ก็เป็นเพียงภาพลวงตาหาความจริงแท้มิได้
ดังนั้นใครที่ตะหนักชัดถึงสัจธรรมความจริงจากใจตนเอง ย่อมรู้ว่าต้องค้นความจริงจากจิต ไม่ต้องวิ่งตามปรากฎการณ์ให้เหนื่อยเปล่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเคลื่อนไหววัตถุทั้งปวงย่อมหยุดนิ่ง ใครฝึกตนให้เป็นผู้ไร้ความเคลื่อนไหวจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร นอกจากทำตนให้แน่นิ่งอย่างวัตถุ ความสงบนิ่งที่แท้ต้องเป็นความสงบนิ่งภายในการเคลื่อนไหวความสงบนิ่ง อย่างวัตถุก็เป็นเพียงความสงบนิ่งไม่ใช่ฌานที่เป็นปัญญาญาณ
ในสรรพวัตถุทั้งหลายจะไม่มีเมล็ดพันธุ์แห่งความเป็นพุทธะ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการจำแนกธรรมลักษณะต่าง ๆ ย่อมพำนักอยู่อย่างสงบนิ่งอยู่กับความเรียบง่ายบนพื้นฐานของสัจธรรม นี่แหละคือหน้าตาของ “ตถตา” บรรดาผู้ที่ดำเนินไปตาม มรรคปฎิปทาคือทางสายกลาง จงอย่าด่วนรวบรัดความรู้ประเภทที่ผูกพันธ์กับกงจักรแห่งความเกิดความตาย
เมื่อพบกับผู้ที่มีความรู้เข้าใจสอดคล้องกัน จงปฏิสัณฐานกันด้วยหลักความจริงแห่งสัจธรรม ส่วนบุคคลที่มีทัศนะที่เห็นต่าง จงปฏิบัติต่อเขาอย่างสุภาพซึ่งจะเป็นการอำนวยความสุขให้กับเขา ตามอัตภาพ เพราะการขัดแย้งโต้เถียงกัน เป็นการแสดงออกถึงความยึดมั่นในอัตตาตัวตน ย่อมเป็นการผลักไสให้ภาวะเดิมแท้ของจิตที่ว่าง ต้องตกไปสู่ความขมขื่นแห่งโลกียภูมิ
จงทำจิตให้บริสุทธิ์และวางท่าทีต่อสิ่งที่หลายอย่างเป็นกลาง ไม่ยินดียินร้ายไม่ยึดติดในความทุกข์หรือความสุข อย่าปล่อยให้ชัยชนะหรือความปราชัย การได้มาหรือการสูญเสียก่อความกังวลแก่เราได้ จงสงบและเยือกเย็น จงสุภาพอ่อนโยนและอารีย์ จงซื่อตรงเที่ยงธรรม คือจุดประสงค์ของการทำสมาธิ ทุกขณะเวลาทุกโอกาส ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ทุกอิริยาบถที่เคลื่อนไหวจงเป็นคนตรงแน่ว ก็เหมือนกับเราดำรงอยู่สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ในอาณาจักรแห่งดินแดนอันบริสุทธิ์
ผู้ปฏิบัติสมาธิภาวนาอย่างนี้ได้โดยบริบูรณ์ ก็เหมือนเนื้อนาที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ดีลงไป แล้วกลบไว้ด้วยโคลน เมล็ดพืชได้รับการบำรุงจนเจริญเติบโต ตราบจนผลิผล การปฏิบัติธรรมอย่างสม่ำเสมอก็เหมือนสายฝนตกตามฤดูกาลซึ่งจะนำความชุ่มชื่นมาสู่ผืนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ ธรรมชาติแห่งพุทธะซึ่งมีอยู่ภายในตัวเราเสมือนกับเมล็ดพืชที่ได้รับความชุ่มชื่นจากสายฝน ก็จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนบรรลุถึงโพธิได้รับผลอันสูงเลิศเป็นแน่แท้
เมล็ดพืชแห่งพุทธะมีอยู่ในจิตของเรา ย่อมงอกงามตามสายฝนที่ซึมซาบไปในทุกสิ่ง ดอกไม้แห่งหลักธรรมเมื่อได้ผลิดอกออกมาด้วยปัญญาญาณผู้นั้นย่อมแน่แท้ที่จะเก็บเกี่ยวผลแห่งการตรัสรู้
ธรรมนั้นไม่เป็นของคู่และจิตก็ฉันนั้น มรรคนั้นบริสุทธิ์และอยู่เหนือรูปทั้งมวล ฉะนั้นอย่าได้ปฏิบัติสมาธิในเรื่องของความเงียบสงบ หรือทำจิต ให้ว่างเปล่า จิตนั้นว่างและบริสุทธิ์อยู่แล้วโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่เราจะต้องไปใฝ่หาหรือยกเลิก จงทำหน้าที่และปฏิบัติตนให้ดีที่สุดและจงไป ในทุกที่ทุกแห่งตามแต่เหตุการณ์อันควรจะนำไป
ผู้เดินทางควรจะกำจัดความคิดเห็นทั้งมวลความดีก็เช่นเดียวกับความชั่ว สิ่งนี้ย่อมเป็นหนทางที่เรียกกันว่า “ภาวะที่แท้แห่งจิต” เท่านั้น ตามความจริงย่อมไม่อาจเรียกเป็นชื่อใด ๆ ได้ ธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่นี้คือธรรมชาติที่แท้จริง และหลักคำสอนทั้งหลายก็อาศัยมูลฐานจากสิ่งนี้
ในทัศนะของสามัญชน ปัญญาและอวิชชา เป็นของสองสิ่งแยกจากกัน ส่วนผู้ได้ตระหนักชัด ถึงภาวะที่แท้แห่งจิตโดยตลอดแล้วย่อมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีธรรมชาติเป็นอย่างเดียวกันอันไม่เป็นของคู่ ซึ่งในกรณีของสามัญชนก็ไม่ได้มีน้อยลง และในกรณีของปราชญ์ผู้บรรลุความรู้แจ้งแล้วก็ไม่ได้มีมากขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้ไหวสะเทือนในเหตุการณ์ที่วุ่นวาย และก็ไม่ได้สงบนิ่งในสภาพที่มีสมาธิ ไม่ใช่เป็นสิ่งถาวรหรือไม่ถาวร ไม่ได้ไปหรือมา ไม่อาจพบได้จากภายในหรือภายนอก หรือไม่อาจพบได้จากอวกาศ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ สิ่งนี้แหละคือหลักธรรมขั้นปรมัตถ์
การบังคับตัวเองให้คอยนั่งสมาธิ อยู่ตลอดเวลานั้น ตามหลักแห่งเหตุและผลแล้ว ไม่เกิดผลดีอะไรขึ้นมา เพราะคนเป็นย่อมจะนั่งและ ไม่นอนอยู่ตลอดเวลา คนตายนั้นนอนและไม่นั่ง สำหรับร่างกายอันเป็นเนื้อหนังของเรานี้ทำไม จะต้องคอยนั่งสมาธิ
โศลกโครงสรุป
เราไม่มีวิธีและเครื่องมือ…..
ที่จะกั้นจิตเสียจากความนึกคิดทั้งปวง…..
อารมณ์ต่าง ๆ ย่อมกลุ้มรุมจิตของเราอยู่เสมอ…
สงสัยว่าต้นโพธิ์จะงอกงามได้อย่างไรกัน!!!
สัจธรรมคำสอนของพระครูบาฮวงโป
พระพุทธเจ้าทั้งปวงและสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้วมิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย....
จิตหนึ่ง... ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นและไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียวหรือสีเหลือง และไม่มีทั้งรูปไม่มีทั้งปรากฏการณ์ มันไม่นับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งทั้งที่มี การตั้งอยู่และไม่มีการตั้งอยู่มันไม่อาจถูกลงความเห็นว่าเป็นของใหม่หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาวของสั้น ของใหญ่ของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่เหนือขอบเขต เหนือการวัดเหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยไว้และเหนือการเปรียบเทียบโดยประการทั้งปวง
จิตหนึ่ง... นี้เป็นสิ่งที่เราเห็นตำตาเราอยู่แท้ ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผลกับมันเข้าดูซิเราจะตกลงไป สู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนความว่างอันปราศจากขอบทุกด้านซึ่งไม่อาจหยั่งหรือวัดได้
จิตหนึ่ง... นี้เท่านั้นเป็นพุทธะ ไม่มี ความแตกต่างระหว่างพุทธะกับสัตว์โลกทั้งหลาย เพียงแต่สัตว์โลกไปยึดมั่นต่อรูปธรรมต่าง ๆ และเพราะเหตุนั้น จึงได้แสวงหาพุทธภาวะ จากภายนอก การแสวงหาของสัตว์เหล่านั้นนั่นเอง ทำให้เขาพลาดจากพุทธภาวะ การทำเช่นนั้นเท่ากับการใช้สิ่งซึ่งเป็นพุทธะให้เที่ยวแสวงหาพุทธะ การใช้จิตให้เที่ยวจับฉวยจิต แม้เขาเหล่านั้นได้พยายามจนสุดความสามารถเขาอยู่ตั้งกัปป์หนึ่งเต็ม ๆ เขาก็จะไม่สามารถลุถึงมันได้เลย เขาไม่รู้ว่าถ้าเขาเองเพียงแต่หยุดความคิดปรุงแต่ง และหมดความกระวนกระวายเพราะการแสวงหาเสียเท่านั้น พุทธะก็จะปรากฏตรงหน้าเขาเพราะว่าจิตนี้ก็คือพุทธะนั่นเอง สิ่งๆ นี้เมื่อปรากฏอยู่ที่สามัญสัตว์จะเป็นสิ่งเล็กน้อยก็หาไม่และเมื่อปรากฏอยู่ที่พระพทุธเจ้าทั้งหลาย จะเป็นสิ่งใหญ่หลวงก็หาไม่
ถ้าเราไม่เห็นตระหนักอย่างเด็ดขาดลงไปว่าจิตนั้นคือพุทธะก็ดีและต่อพิธีการบำเพ็ญบุญกุศลและได้บุญมากมายนับไม่ถ้วน ดุจเมล็ดทรายในแม่น้ำ คงคาก็ดีเหล่านี้นั้น จงคิดดูเถิดถ้าเมื่อเราเป็น ผู้สมบูรณ์ด้วยสัจจะพื้นฐานในทุกกรณีอยู่แล้วเราก็ไม่ควรพยายามที่จะเพิ่มอะไรให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้นมิใช่หรือ? เมื่อใดโอกาสอำนวยให้ทำก็ทำมันไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้วอยู่เฉย ๆ ก็แล้ว
เนื้อแท้แห่งสิ่งสูงสุดสิ่งนั้นโดยภายในแล้ว ย่อมเหมือนกับหิน คือภายในนั้นปราศจาก การเคลื่อนไหวและโดยภายนอกแล้วย่อมเหมือนกับความว่าง กล่าวคือปราศจากขอบเขตหรือสิ่งกีดขวางใดๆ สิ่งนี้มิใช่เป็นฝ่ายนามธรรมหรือฝ่ายรูปธรรม มันไม่มีที่ตั้งเฉพาะไม่มีรูปร่างและไม่อาจจะหายไปได้
ผู้ที่รีบจะไปให้ถึงก็ไม่กล้าเข้าไปเพราะกลัวว่าจะพุ่งลงไปสู่ที่ว่างโดยไม่มีสิ่งใดที่เกาะหรืออาศัย ไม่ให้ตก เมื่อเป็นอย่างนั้น เขาจึงดูอยู่แต่ที่ขอบและถอยออกมา ข้อนี้เล็งถึงพวกแสวงหาความหลุดพ้นโดยการเรียนรู้จึงมีมากเหมือนขนสัตว์ และพวกที่ประสพความรู้แห่งทาง ทางโน้นด้วยใจตนเองมีน้อย เหมือนเขาสัตว์
จิตนี้... มิใช่สิ่งซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งซึ่งอยู่ต่างหากปราศจาการเกี่ยวข้องกับรูปธรรมโดยสิ้นเชิง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทั้งหลายและสัตว์โลกทั้งปวง จึงไม่แต่กต่างกันเลย ถ้าเราเพียงแต่สามารถปลดเปลื้องตนเองออกมาเสียจากความคิดปรุงแต่งเท่านั้น เราจะประสพความสำเร็จทุกอย่างทุกประการ
การสร้างสมความดีและความชั่วทั้งสองอย่างเนื่องมาจากความยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรม ผู้ที่ยึดมั่นในรูปธรรมซึ่งทำความชั่วจะต้องทนรับ การเกิดแล้วเกิดอีกด้วยประการต่าง ๆ อย่างไม่จำเป็นส่วนผู้ที่ยึดมั่นในรูปธรรมซึ่งทำความดีก็ทำตัวเองให้ตกลงไปเป็นทาสของความพยายามจะเกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้ขาดแคลนอยู่เสมอโดยเท่าเทียมกันอย่างไม่มีที่มุ่งหมาย ในทั้งสองกรณีนั้นมันจะ เป็นการดียิ่งกว่าถ้าหากเขาทำให้เกิดความเห็นแจ้ง ในตนเองอย่างฉับพลันและในหลักธรรมอันเป็น หลักมูลฐานของสัตว์ทั้งหลาย
หลักธรรมนี้ก็คือจิต ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว ก็ไม่มีหลักธรรมใด ๆ เลย จิตนั้นโดยตัวมันเอง ก็ไม่ใช่จิต แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังมิใช่จิต นั่นแหละย่อมหมายความถึงสิ่งบางสิ่ง ขอให้มีความเข้าใจอย่างนิ่งเงียบเถิด!!! ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้
จงเลิกละการคิดและการอธิบายเสีย ให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่าคลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดขาดไปแล้วและพฤติกรรมของจิตก็ถูก เพิกถอนโดยสิ้นเชิงแล้ว
พระพุทธเจ้าพร้อมพระโพธิสัตว์ทั้งปวงและสัตว์ซึ่งมีความรู้สึกนึกคิดกระดุกกระดิกได้ทั้งหมด ล้วนเป็นของสิ่งหนึ่งแห่งธรรมชาติอันหนึ่งนี้เท่านั้น และไม่แตกต่างกันเลย ความแตกต่างทั้งหลายเกิดขึ้นจากความคิดผิด ๆ เท่านั้น และนำไปสู่การก่อสร้างกรรมทั้งหลายทั้งปวงทุกชนิดไม่มีหยุด
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะดั้งเดิม ของเรานั้นโดยความจริงอันสูงสุดแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตนแม้แต่สัก ประมาณูเดียว สิ่งนี่เป็นความว่าง เป็นสิ่งที่มีอยู่ ในทุกแห่งสงบเงียบและไม่มีอะไรเจือปน มันเป็นศานติสุขที่รุ่งเรืองและเร้นลับแล้วก็สิ้นสุดกัน เพียงเท่านั้นเอง จงเข้าไปสู่สิ่งนี้ให้ลึกซึ้งโดยลืมตา ต่อมันด้วยตัวเราเอง
สิ่งซึ่งอยู่ตรงหน้าเรานั้นแหละคือสิ่ง ๆ นั้น ในอัตราเต็มที่ทั้งหมดของมันและสมบูรณ์ถึงที่สุดแล้ว แม้ว่าจะมีการปฏิบัติเป็นขั้นลำดับจนถึงความรู้แจ้ง ถึงที่สุดเต็มที่โดยแว่บเดียว ก็หาได้เป็นการเพิ่มอะไรให้แก่สิ่ง ๆ นี้ไม่เลยแม้แต่นิดเดียว
ธรรมสภาวะนี้เป็นสิ่งซึ่งไม่มีทางที่จะถูกแยกแยะเป็นฝักฝ่ายโดยเด็ดขาด เช่นไม่เป็นของสูงหรือของต่ำและมันมีชื่อว่าโพธิ สิ่งนี้คือจิตล้วน ๆ มันเป็นสิ่งที่ให้กำเนิดของทุก ๆ สิ่งไม่ว่าจะปรากฏออกมาเป็นแม่น้ำและภูเขาในโลก สิ่งซึ่งมีรูปหรือไม่มีรูปเป็นสิ่งที่ซึมแทรกอยู่ทั่วสากลโลกก็ตาม มันไม่สามารถแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายโดยเด็ดขาด อยู่นั้นเองไม่มีทางที่จะเกิดสมญาณามว่าตัวเอง หรือผู้อื่นขึ้นมาได้เลย
เมื่อชาวโลกได้ฟังคำกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงถ่ายทอดธรรมคือจิต เขาก็พากันเหมา เอาว่ามีอะไรบางสิ่งที่จะต้องบรรลุถึงหรือเห็นแจ้งต่างไปจากจิต ดังนั้นเขาจึงใช้จิตเพื่อแสวงหาธรรม โดยไม่รู้เลยว่าจิตและธรรมที่เขาพากันแสวงหา เป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน จิตไม่ใช่สิ่งที่อาจนำไปแสวงหา สิ่งอื่นนอกจากจิต เพราะฉะนั้นจงขจัดความคิด ปรุงแต่งโดยฉับพลันซึ่งนั่นแหละคือตัวธรรมอันเป็นหลักมูลฐาน
มันเหมือนกันนักรบคนหนึ่ง เขาลืมไปว่าได้ประดับไข่มุกไว้ที่หน้าผากตัวเองเรียบร้อยแล้ว กลับสับสนวุ่นวายเที่ยวแสวงหามันไปในที่ทุกแห่ง เขาอาจะท่องเที่ยวเสาะแสวงหาไปทั่วทั้งโลก แต่ก็ไม่อาจจะพบมันได้ แต่ถ้ามีใครสักคนหนึ่งรู้ว่านักรบคนนั้นทำผิดอยู่อย่างไร? แล้วชี้ไปยังไข่มุกที่หน้าผากให้เขาเห็นนักรบคนนั้นก็จะเกิดความรู้แจ้งขึ้นในทันทีทันใดว่าไข่มุกได้อยู่ที่นั่นแล้วตลอดเวลา
ข้อนี้ฉันใดเรื่องของผู้ที่กำลังสำคัญผิดเกี่ยวกับสัจธรรมความจริงก็พากันจับฉวยความจริงไม่ได้ ว่าจิตนั่นแหละคือสัจธรรมดังนี้แล้วก็พากันท่องเที่ยวหาสัจธรรมนั้นไปในทุกหนทุกแห่ง เฝ้าสาละวนอยู่แต่กับการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติและเก็บเกี่ยวผล ของการปฏิบัติมีประการต่าง ๆ วิธีการอย่างนี้ไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับการขจัดความคิดปรุงแต่งอย่างฉับพลัน ด้วยความรู้อันเด็ดขาดว่าไม่มีอะไรเลย ที่จะตั้งอยู่อย่างไม่ต้องแปรผัน ไม่มีอะไรเลยที่จะ อิงอาศัยได้ ไม่มีอะไรเลยที่จะตั้งอยู่ในฐานะผู้กระทำหรือผู้ถูกกระทำ
ตามความจริงแล้วไม่มีอะไรสักอย่างเดียว ที่มีอยู่จริง การสลัดสิ่งทุก ๆ สิ่งออกไปเสียนั่นแหละคือตัวธรรม ผู้ซึ่งเข้าใจความจริงข้อนี้นั่นแหละ คือพุทธภาวะ แต่การสลัดสิ่งที่เป็นมายาทุกสิ่งออกไปเสียนั้นต้องไม่เหลือธรรมะอะไร ๆ ไว้ให้ยึดถือ อีกจริง ๆ คนทั่วไปชอบมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขา ส่วนผู้ปฎิบัติธรรมจะมองดูจิต แต่ธรรมที่แท้ ต้องไม่ใส่ใจมันเลยทั้งสองอย่าง...
พฤติกรรมทางจิตไม่ว่าชนิดไหนทั้งหมด ย่อมนำเราไปสู่ความผิดพลาดทั้งนั้น มีสิ่งที่ต้องทำคือขจัดเสียซึ่งความโลภ ความโกรธ และความไม่รู้ ด้วยความสำรวม ความสงบและปัญญาเป็นที่ตั้ง ถ้าไม่มีความหลงผิดแล้วการตรัสรู้จะมีขึ้นได้อย่างไร? ด้วยเหตุนี้ท่านโพธิธรรมจึงได้กล่าวว่า
“พระพุทธเจ้าได้ประกาศธรรมทั้งปวงโดยมุ่งหวังที่จะขจัดเสียซึ่งลู่ทางทุกๆ ชนิดแห่งความคิดปรุงแต่ง ถ้าฉันปราศจากความคิดปรุงแต่ง โดยสิ้นเชิงแล้ว
ธรรมทั้งปวงจะมีประโยชน์อะไรแก่ฉัน...” ดังนี้
จงระวังอย่างผูกพันตัวเองกับสิ่งใดนอกจากกับธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสิ่งทั้งปวง สมมุติว่าถ้าเอาเพชรพลอยจำนวน นับไม่ถ้วนไปประดับที่ความว่างมันจะติดอยู่ที่นั่นได้อย่างไร...?
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นเหมือนกับความว่าง แม้นจะประดับมันด้วยบุญและปัญญา อันมากมายจนประมาณมิได้ สิ่งเหล่านั้นจะติดอยู่ที่ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะได้อย่างไร...? บุญและปัญญาชนิดนั้นก็รังแต่จะปิดคลุมธรรมชาติดั้งเดิมของพุทธภาวะเสียและกลายเป็นสิ่งที่เห็นไม่ได้ไปเสียเท่านั้น
ส่วนใหญ่คนธรรมดาทั่วไปพากันปล่อยตัวไปตามความคิดปรุงแต่งซึ่งอาศัยปรากฎการณ์ทั้งหลาย ที่แวดล้อมรอบอยู่ เพราะฉะนั้นเขาจึงเกิดความรู้สึก ที่เป็นความรักและความชัง ถ้าขจัดปรากฎการณ์ ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องร้อยรัดที่แวดล้อมเหล่านั้นเสีย ก็เพียงแค่หยุดความคิดปรุงแต่ง เมื่อความคิดปรุงแต่งหยุดไป ปรากฎการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องแวดล้อม ก็จะกลายเป็นของว่างเปล่า เมื่อปรากฎการณ์ต่าง ๆเป็นของว่างเปล่าความคิดก็สิ้นสุดลง...
ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่มีอะไรทำลายไป จงเหวี่ยงคติทวินิยม (ความรู้สึกยึดติดเปรียบเทียบเป็นของคู่) ไปเสียให้พ้น รวมทั้งความชอบและ ความไม่ชอบ ด้วยสิ่งที่เป็นอิสระเหนืออารมณ์คือ จิตหนึ่งเมื่อเข้าถึงสิ่ง ๆ นี้ด้วยใจแล้วก็จะได้ขึ้นสู่ ราชรถของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
การพยายามเพียงแค่ขจัดสิ่งแวดล้อม ที่เป็นปรากฏการณ์โดยไม่ให้ความคิดปรุงแต่ง หยุดไปเสียก่อน ก็จะไม่สามารถประสพความสำเร็จ กลับมีแต่จะเพิ่มกำลังให้แก่สิ่งแวดล้อมปะทุขึ้นมารบกวนหนักยิ่งขึ้น
เพราะฉะนั้นสิ่งทั้งปวงมิได้เป็นอะไร นอกจากจิตซึ่งสัมผัสได้ทางอายตนะ เป็นความจริง ที่ไม่ต้องรู้หรือบรรลุถึง การพูดว่า “ข้าพเจ้าสามารถรู้ถึงสิ่งบางสิ่ง” หรือว่า “ข้าพเจ้าสามารถบรรลุเป้าหมายประสบความสำเร็จถึงสิ่งบางสิ่ง” นั้นคือการจัดตัวเองไว้ในระหว่างบรรดาคนผู้เป็น นักโอ้อวดอุตริเป็นอันตรายอย่างยิ่ง ตามความจริงคือความเข้าใจซึมซาบอย่างเงียบกริบและดำรงตนอยู่อย่างเรียบง่ายที่สุดเท่านั้นไม่มีอะไรอีกแล้ว...
เมื่อเข้าใจพุทธธรรมได้อย่างลึกซึ้ง จะปราศจากความรู้สึกที่แบ่งแยกความสำคัญตนปลาศนาการ จนรู้สึกกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับพุทธะ มีความเข้าใจซึมซาบด้วยจิตอย่างหุบปากเงียบ ไม่มีอะไรจะต้องพูดเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเที่ยวแสวงหาธรรมจากที่ใดเลย เพราะเมื่อทำได้ดังนี้ จิตนั้นแหละคือธรรมนั้นเอง
ถ้าคนธรรมดาสามัญคนหนึ่งเมื่อเขาร่อแร่ จวนจะตาย หากเขาสามารถเพียงแต่เห็นว่ามวลธาตุทั้งห้าซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นวิญญาณนั้น เป็นของว่างเปล่า และเห็นว่ามูลธาตุทางรูปกายนั้นไม่ใช่สิ่งซึ่งประกอบขึ้นเป็นตัวตน... เห็นว่าจิตจริงแท้นั้นไม่มีรูปร่าง ไม่ใช่การมาหรือการไปเห็นว่าธรรมชาติเดิมแท้นั้นเป็นสิ่ง ๆ หนึ่งซึ่งมิได้มี การเริ่มต้นที่การเกิดหรือมิได้สิ้นสุดลงที่การตาย แต่เป็นของสิ่งเดียวรวดปราศจากการเคลื่อนไหวใด ๆ ในส่วนลึกของมันทั้งหมด และว่าจิตของเขา กับสิ่งต่าง ๆ ซึ่งแวดล้อมเขาอยู่นั้นเป็นสิ่ง ๆ เดียวกัน ถ้าสามารถทำตามนี้ก็จะบรรลุถึงการรู้แจ้ง ได้โดยฉับพลัน
แม้หากว่าจะได้มองเห็นภาพอันรุ่งโรจน์ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์เสด็จมาต้อนรับเขา ห้อมล้อมไปด้วยสิ่งอันวิจิตรตระการตาทุกชนิด เขาก็ไม่เกิดความรู้สึกอยากเข้าไปใกล้ หรือถ้าเขา ได้มองเห็นภาพอันน่าหวาดเสียวทุกชนิดมาแวดล้อมอยู่รอบตัวเขาจะไม่รู้สึกกลัว
เขาได้เข้าสู่สภาวะอิสระไม่มีอะไรมาครอบงำปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง จะผสานกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสิ่งสูงสุด เขาได้ลุถึงภาวะที่อะไรจะมายั่วยุให้เกิดความฟุ้งซ่านปรุงแต่งไม่ได้อีกต่อไป ฉะนั้นนี่แหละคือธรรมะที่เป็นธรรมชาติ โดยพื้นฐานในที่นี้.....
นิพพานอันเป็นแดนเกษมก็คือจิต และจิต ก็คือธรรม ความจริงก็คือเนื้อแท้ดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าทั้งหลายและเป็นขุมทรัพย์แห่ง สัจธรรมอันเป็นภาวะดั้งเดิมของเราท่านทั้งหลาย อีกนั่นเอง เพชรพลอยเหล่านี้วัดหรือตวงไม่ได้ สะสม ให้มากขึ้นก็ไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจระบุว่าเป็นอะไร ทั้งไม่อาจจะชี้ทิศทางให้แก่ใครได้เลย อย่างมากที่สุด ก็พูดได้เพียงว่ามันอยู่แค่ปลายจมูกนี่เอง มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจระบุตรง ๆ ได้ว่ามันคืออะไรจริง ๆ แต่เมื่อเรา มีความเข้าใจซึมซาบถึงเนื้อแท้ของมันอยู่อย่าง หุบปากเงียบ โดยไร้คำพูดบรรยายไร้คำอรรถาธิบาย มันก็อยู่ตรงนั้นเอง
คนส่วนใหญ่ทั่วไปมักจะถูกปิดกั้นเสีย จากการรู้แจ้งต่อจิตโดยปรากฏการณ์ต่าง ๆ ซึ่งแวดล้อมอยู่รอบ ๆ ตัวเขา และถูกปิดกั้นเสีย จากการรู้แจ้งต่อหลักธรรมที่สำคัญที่สุดโดยเหตุการณ์ต่างๆ เฉพาะตน ดังนั้นเขาจึงหาทางหลีกเลี่ยงจากปรากฎการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นเสีย ด้วยหวังว่าจะยึดหน่วงเอาธรรมะนั้นให้ได้ เขาไม่เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการกลบเกลื่อนปรากฎการณ์ต่าง ๆ ด้วยจิต กลบเกลื่อนเหตุการณ์ ต่าง ๆ ด้วยหลักธรรม
ขณะที่เมื่อมีความรู้แจ้งต่อจิต ก็เพียงทำใจ ให้ว่างเท่านั้น ปรากฏการณ์ที่เป็นสิ่งแวดล้อมทั้งหลายก็จะเป็นของว่างและสงบอยู่ตามธรรมชาติ จงให้หลักการทั้งหมดหยุดนิ่งแล้วเหตุการณ์ อันหลากหลายก็หยุดวุ่นวายได้ด้วยตัวมันเอง อย่างเป็นปกติ จงอย่าใช้จิตไปในทางอุตริแผลง ๆ เช่นนั้นเลย
คนส่วนมากขี้ขลาดต่อการทำจิตให้ว่าง โดยเกรงไปว่าจะพลัดตกลงไปในความว่าง ตามธรรมชาติสิ่งที่เรียกว่า “จิต” เป็นของว่างมาแต่เดิมอยู่แล้ว คนโง่มัวแต่หลบหลีกปรากฏการณ์ต่าง ๆ ไม่หลบหลีกจากความคิดปรุงแต่ง ส่วนคนฉลาดหยุดความคิดปรุงแต่งไม่จำต้องหลบหลีกปรากฏการณ์
เมื่อสรรพสิ่งทั้งภายในและภายนอก ทั้งที่เป็นรูปธรรมนามธรรมถูกเพิกถอนแล้ว เมื่อความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งหลายไม่มีเหลืออยู่ เช่นเดียวกับความว่าง เมื่อการกระทำทั้งหมดเป็นไปแต่ตามสมควรแก่สถานที่สิ่งแวดล้อมล้วน ๆ และความรู้สึกว่ามีตัวตนในฐานะผู้กระทำและในฐานะผู้ถูกกระทำได้ถูกลบล้างไปหมดแล้ว นี่คือวิธี อันชาญฉลาดแห่งการอยู่เหนืออารมณ์ชนิด เยี่ยมยอดที่สุด
การถ่ายทอดธรรมสูญญตาความว่าง ไม่สามารถสื่อได้โดยทางคำพูด การถ่ายทอดตามความหมายอย่างทางฝ่ายวัตถุนั้นไม่สามารถใช้กันได้กับธรรมะสูญญตาความว่าง เมื่อเป็นดังนั้นธรรมะ จึงเป็นสิ่งที่ถูกถ่ายทอดด้วยจิต เมื่อรู้แจ้งต่อจิต แล้วจะไม่มองเห็นความแตกต่างของสิ่งทั้งหลาย
การถ่ายทอดธรรมและการรับการถ่ายทอด ทั้งสองอย่างนี้เป็นความเข้าใจอันเร้นลับที่จะรู้ได้เฉพาะตน มันจึงเป็นสิ่งที่ผู้รู้เข้าใจถึงอุปนิสัยจริง ๆ ที่จะสามารถถ่ายทอดและรับกันโดยตรงจากจิตสู่จิต
ถึงอย่างไรก็ตามสิ่งที่พอจะสื่อให้เห็น ภาพความจริงของจิตนั้นก็ยังไม่ใช่จิต และ การถ่ายทอดธรรม ก็มิใช้การถ่ายทอดที่เป็นจริง เป็นจังอะไรเลย เพราะฉะนั้นธรรมะจึงเป็นสิ่งไม่อาจนำมาอธิบายด้วยคำพูด นั้นแหละเรียกว่าการเผยแพร่ธรรม และสิ่งที่นำมาพูดแสดงเปรียบเทียบธรรมะคืออะไร? นั้นยังหาใช่ธรรมสัจจะที่แท้จริง
มันไม่มีวิถีทางใดเลยที่สาธยายธรรมะ แห่งจิตหนึ่งนี้ ให้แก่กันและกันได้โดยเด็ดขาด เมื่อเป็นดังนั้นพระตถาคตเจ้าจึงได้รับสั่งให้ พระหากัสสปะมาเฝ้าและนั่งกับพระองค์บนอาสนะแห่งการประกาศสัจธรรม ทรงมอบธรรมะแห่งจิต หนึ่งนี้ซึ่งเป็นธรรมะที่ไม่เกี่ยวกับคำพูดแต่ประการใดเลยให้แก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ธรรมที่ไม่อาจจะแตกแขนงข้อนี้เป็นธรรมขั้นวิเศษ “ขั้นปรมัตถ์” ผู้ที่รู้แจ้งเห็นจริงอย่างทะลุปรุโปร่งแล้วโดยมิต้องมีอะไร จะพูดกันนั่นแหละจะได้บรรลุถึงภาวะแห่งธรรมนั้น....
สมณะได้นามว่าสมณะก็เพราะรู้แจ้ง แทงตลอดแหล่งกำเนิดของสิ่งทั้งปวง ผลอานิสงส์ความเป็นสมณะเช่นนั้นบรรลุถึงได้ด้วยการ ทำความสิ้นสุดให้แก่ความกระหายใคร่จะลุถึง ทุกอย่างเสีย เพราะถ้ามัวแต่สาละวนในการใช้จิตแสวงหาจิต มัวอยู่แต่ค้นคว้าศึกษาจากตำหรับตำราหรือติดอยู่แค่ฟังคำสอนจากผู้อื่นอยู่ร่ำไป เมื่อไรเล่าจะบรรลุถึงจุดหมายปลายทางประสพความสำเร็จ
ผู้มีจิตใจแหลมคมจะรีบสลัดความรู้สึกทั้งหมดเสียได้โดยการทำจิตให้ว่างและสงบ จึงได้นามว่า “ปราชญ์ผู้สลัดการศึกษาเสียได้ สู่ทางลัดอย่างฉับพลันโพล่งรวดเดียวถึงธรรมะ คือความว่างโดยธรรมชาติอยู่แล้ว”
คนส่วนใหญ่มัวแต่แสวงหาการบรรลุ จนมีความรู้ล้นสมองเลอะเทอะแถมยังเที่ยวประกาศความรู้ความสามารถในการใช้เหตุผลข้อมูล ทางอนุมาน ศึกษาความรู้ทางพระคัมภีร์อยู่ทั่ว ทุกหนแห่ง เข้าใจเอาเองว่านี่คือการปฏิบัติธรรม โดยหารู้ไม่ว่าความรู้และสติปัญญาชนิดนั้น ยิ่งมีมากก็ยิ่งมีผลในทางตรงกันข้าม คือเป็นการสุมกองข้อสงสัยให้กังขา เป็นสิ่งกีดขวางทวีมากยิ่งขึ้น ลำพังการรวมความรู้สติปัญญาอันเฉลียวฉลาดเข้าไว้อย่างท่วมหัวชนิดนั้นเกิดมันติดขัดยึดติดอะไรมากเกินจนจิตฟุ้ง ไม่ปล่อยวาง มันก็จะกลายเป็นพิษเป็นอันตราย ต่อความสงบ เพราะมันเป็นได้แต่เพียงของในเครือข่ายเดียวกันกับสังสารวัฏ ความรู้สึกนึกคิดในรูปต่าง ๆ ที่เป็นความเคยชินตามโลกบัญญัติสมมุติ ซึ่งมันได้ก่อมันขึ้นไว้ในอดีตเหลืออยู่ในรูปแห่งสัญญา ความทรงจำนั้นต้องสลัดทิ้งให้หมด ปล่อยวางให้จิต อยู่กับความว่าง เมื่อใดคติทวินิยมการเปรียบเทียบสิ้นสุดลง เมื่อนั้นทุกสิ่งก็จะอยู่ในสภาพความว่าง อันหมายถึงไม่มีพื้นที่พอที่จะให้สิ่งใด ซึ่งมีขนาด แม้เท่าเส้นขนที่เล็กที่สุดตั้งอยู่ได้นั่นแหละ!!!! คือข้อที่ว่าเหตุใดพระพุทธเจ้าผู้ที่ทำลายความยึดถือว่ามีตัวตนลงเสียได้และทรงแสดงพระองค์ให้ปรากฎต่อชาวโลก
คำตรัสนี้ทรงมุ่งหมายโดยตรงเพื่อให้ความรู้และสติปัญญามิให้เหลือร่องรอยของการปฎิบัติ อย่างคว้าไปคว้ามาอย่างเคว้งคว้าง เพราะติดแน่นอยู่กับความรู้อันมากมายทุกประการเสียจนไม่รู้สึกว่ามีอะไรแม้แต่อนุภาคเดียวที่จะบรรลุถึงอะไรทั้งหมดแล้วเท่านั้นที่จะสามาถเป็นผู้สงบถึงที่สุดได้
ที่ยิ่งกว่าอื่นใด เป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือ อย่ายึดติดต่อคำสอนที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนเฉพาะบางโอกาสบางเรื่องตามอุปนิสัย ของแต่ละบุคคล เพราะถือว่าเรื่องเฉพาะตน ของบุคคลนั้น ๆ มิใช่เป็นหลักโดยทั่วไปที่คนอื่น จะถือเอาเป็นหลักตายตัวที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้อีกต่อไป เพราะมันประทับใจและเป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ใน พระคัมภีร์ เพราะโดยความจริงสภาวะเดิมแท้แห่งธรรมนั้นไร้ตัวตนมิได้เป็นอะไรเลย มันว่างและสงบอยู่โดยธรรมชาติ อย่าได้เที่ยวสร้างภาพมายาแสวงหาความรู้เรื่องอะไรมากมายแล้วจบลงแค่ความฉงนสนเท่ห์นานาชนิด
สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งคือทำให้การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทางจิตใจให้หยุดเสียหมด หยุดความคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านอย่าได้สงสัยเป็นกังวลเกี่ยวเกาะ กับสิ่งใด ๆ นั้นแหละคือความว่างและสงบ อย่างแท้จริง
ในทันทีที่ความคิดปรุงแต่งหรือความรู้สึก ทางอายตนะเกิดขึ้น ก็จะทำให้พลัดตกลงสู่คติทวินิยม กาลเวลาทั้งหมดซึ่งปราศจากการตั้งต้นหรือที่สุด และขณะหนึ่งของปัจจุบันก็คือสิ่งเดียวกันไม่มีนี้ ไม่มีโน้น การเข้าใจซึมซาบในสัจจะเช่นนี้เรียกว่า การรู้แจ้งเห็นจริงที่สมบูรณ์ไม่มีอะไรยิ่งกว่า
เพียงแต่หยุดปล่อยตนไปตามความคิดแบ่งแยกความเป็นเขาเป็นเราหรือของเราของเขา หรือเป็นอะไร ๆ ที่ตรงกันข้ามกันเสียเท่านั้น มายาความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงก็จะสิ้นสุดสู่ สูญญตาความว่างโดยธรรมชาติ ทันทีที่รู้สึกว่า มีอะไรมารบกวนจนอยากจะทำลายมันในที่ทุกแห่ง ที่มันอาจจะมีอยู่ ในที่สุดจะพบว่าไม่มีสิ่งใด เหลืออยู่เลยแม้แต่เท่าเส้นขนเส้นเดียวให้ยึดเกาะ... นี่แหละ!!! คือความหมายของคำว่า “ฉันจะปล่อยเสียทั้งสองมือ” แล้วจะพบธรรมชาติแห่งพุทธะ ในจิตอย่างแน่แท้นั่นเอง
ความสำเร็จอันสูงสุดคืออ้ามือทั้งสอง จนไม่มีอะไรจะปล่อยอีกแล้วอย่าได้เที่ยวมัวเสียแรงไปกับการโอ้อวดว่ามีอะไรพิเศษสารพัดอย่างหรือว่า มีความรู้เรื่องอะไรต่าง ๆ มากมายหลายประเภทนั้น ไม่อาจจะเปรียบกันได้กับการที่สามารถเพิกถอน เสียได้ซึ่งการแสวงหาทุกอย่างทุกประการ ซึ่งการทำได้ดังนั้นเป็นสิ่งเลิศสุดเหนือสิ่งทั้งปวง จิตมิได้เป็นสิ่งที่มีมากหลายชนิด และไม่มีหลักธรรม ที่แท้จริงอะไรที่อาจนำมาสื่อภาษากันได้ทางคำพูด เมื่อไร้คำอรรถาธิบาย “จงหุบปากนิ่งสงบอยู่ในสูญญตาวิหารธรรม ท่ามกลางโลกและตอบสองต่อสิ่งต่างๆ อย่างแผ่วเบาที่สุดเท่าที่ควรตามแต่โอกาส”
ขอเพียงแต่ทำใจให้ว่างหยุดยึดติดตามโลกสมมุติความหมายว่าดีและชั่วเสียให้หมด ตรงขณะนี้แหละจงย้อนกลับสู่ภาวะเดิมแท้ก่อนแต่ที่มารดาบิดาจะให้กำเนิดมาก็จะทำให้หัวใจได้ซึมซาบต่อความว่าง จึงคู่ควรแก่นามว่าภิกษุผู้เชี่ยวชาญต่อธรรมปฎิบัติ
จักรวาลเดิมอันรุ่งเรืองและบริสุทธิ์นั้น ไม่ใช่ของเหลี่ยมหรือของกลม ไม่ใช่ของใหญ่ หรือของเล็ก มันปราศความแตกต่างว่ายาวหรือสั้น มันอยู่เหนือการเกี่ยวข้องเหนือการกระทำใด ๆ ทั้งหมด เหนืออวิชชาและเหนือการตรัสรู้ ตามความจริงแล้วทุกสรรพสิ่งเป็นของว่าง ไม่มีสามัญชน ไม่มีพุทธะทั้งหลาย มหาโลกธาตุ นับจำนวนไม่ถ้วนดุจเมล็ดทรายในโลกก็เป็นเพียงฟองน้ำเม็ดเล็ก ๆ ญาณทั้งหลายและอริยภาวะทั้งปวง ก็เป็นเส้นแฉก ๆ ของสายฟ้าแลบในบรรดา สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดไม่มีอะไรซึ่งเป็นตัวตนที่แท้จริง นั่นแหละคือธรรมชาติเดิมแท้ของจิต
คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดเป็นเพียงอุบายวิธีเพื่อจะกลับใจมหาชนออกจากความหลง งมงายในอารมณ์ มันเหมือนกับแสร้งลวงด้วยของเล่นมาล่อให้เด็กเล่น เพื่อให้เด็กหยุดร้องไห้เท่านั้น ฉะนั้นมันต้องไม่ถูกถือว่าเป็นความจริงที่เด็ดขาด แต่ประการใดไม่....
สัจธรรมอันเป็นรากฐานของธรรมนั้น คือหลักที่ว่าไม่มีธรรม ถึงกระนั้นหลักที่ว่าไม่มีธรรมนั่นแหละเป็นธรรมอยู่ในตัวมันเอง และบัดนี้หลักที่ว่าธรรมไม่มีนั้นก็ได้ถูกเปิดเผยโดยสิ้นเชิงแล้ว หลักที่ว่ามีธรรม จะเป็นธรรมได้อย่างไร!!! เพราะสัจจะธรรมเป็นอนัตตาไร้ตัวตนคนสัตว์โดยธรรมชาติ
ดังนั้นจงน้อมรับธรรมหฤทัยอันลึกซึ้งที่สุดของพระตถาคตเจ้า... อย่างหุบปากนิ่งเงียบเถิด จิตกับพุทธะคือสิ่งเดียวกัน วิธีที่ฉลาดที่สุดคือ การเพาะให้พุทธ – จิตผลิออกมาให้เห็นเท่านั้นเอง ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีปฏิบัติการบรรลุ ถึงการตรัสรู้อะไรนานาชนิดเลย คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดมีวัตถุประสงค์ปลดเปลื้อง ความหลงงมงายในอารมณ์ ถ้าเพียงหยุดความลุ่มหลงมัวเมาได้สำเร็จ สิ่งยั่วยวนที่เป็นรสชาดเอร็ดอร่อย อันน่ารื่นรมย์ก็จะจืดชืดไร้ความหมาย ไร้รูปไร้นาม สิ่งที่เป็นรูปธรรม – นามธรรมทั้งหลายก็เพียงภาพว่างเมื่อรู้แจ้งว่าลักษณะอาการที่ปรากฏหาใช่ลักษณะ ที่เป็นตัวตนแต่ประการใดไม่... นั่นแหละคือ การได้รู้จักพระตถาคตเจ้า
ถ้าฝืนยึดติดในรูปแห่งพระพุทธองค์ ก็จะถูกปิดกั้นเสียด้วยพุทธะนั้นนั่นเอง และเมื่อยังยึดติด ว่ามีสัตว์โลกก็จะถูกปิดกั้นเสียด้วยสัตว์โลกเหล่านั้น ความคิดปรุงแต่งที่เป็นคติทวินิยมเช่นเห็นว่ามี ผู้ที่ยังโง่หลงหรือผู้ที่ตรัสรู้แล้ว มีเรามีเขา มีบริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์และเป็นนั่นเป็นนี่อะไรมากมาย นั่นแหละคือสิ่งกีดกั้นปิดบังไม่ให้เห็นแจ้งความจริง...
จิตเป็นสิ่งที่ไม่อาจถูกแบ่งแยกให้เป็นนั่น เป็นนี่ได้เลย เพราะฉะนั้นปรากฏการณ์ทั้งหลาย ที่ปรากฏต้องไม่ถูกแยกเป็นชนิดต่าง ๆ ตามคติทวินิยมโดยเสมอกัน และเป็นสิ่งที่อยู่ เหนือการกระทำกรรมทั้งปวง เพียงแต่ทำจิตให้ว่าง วัตถุหรืออารมณ์ที่รู้สึกได้ทางอายตนะไม่ว่ามันจะอยู่ในจำพวกไหนสักกี่หมื่น กี่แสนจำพวก ตามความจริงทุกสรรพสิ่งมันเป็นของว่างตามธรรมชาติ โดยตัวมันเอง และครอบคลุมไปทั่วทุกทิศทุกทาง เป็นสิ่งเดียวกับจิตนั้น
ผู้ใดก็ตามสำคัญว่าตัวตนมีอยู่ในสสารหรือเป็นพลังงาน นั่นคือการเฉออกไปนอกทางสัมมาปฎิบัติจึงไม่สามารถเข้าใจเรื่องของพระตถาคตเจ้า ได้อย่างถูกต้อง อีกทั้งความหยิ่งความภาคภูมิใจ ในความสำเร็จความรู้อันลึกซึ้งความรอบรู้ จากการศึกษาอันกว้างขวางการมีระบบ วิถีปฏิบัติธรรมและหลงสำคัญว่าตนได้หลุดพ้นแล้วดังนี้นั้น ความสำเร็จของเราย่อมทำให้ความรู้สึกนึกคิดเป็นความสุขแก่เราเป็นที่สุด แต่ความจริงแล้ว มันเป็นความผิดพลาดอย่างน่าทุเรศหาประโยชน์ อันใดมิได้ อย่าได้ลวงตัวเองเที่ยวมองหาสัจจะธรรม ในที่ใด ๆ เลย จงหยุดนิ่งอย่างมีระบบคงสภาพความเงียบสงบอย่างเรียบง่ายกับธรรมชาติที่ธรรมดาที่สุด
ในทันทีที่ความคิดแบบคติทวินิยมเกิดขึ้น เช่นคิดว่ามีพุทธะผู้หลุดพ้น มันก็จะถูกบังคับว่า มีสัตว์โลกที่เป็นสามัญตามขึ้นมาเป็นต้น เพราะความคิดอันหลากหลายภายในใจและ ความรู้สึกต่าง ๆ ที่เกิดจากอารมณ์ภายนอก จะถูกตีกรอบถูกบีบให้เตี้ยแคระโดยภูเขาเหล็ก ทั้งสองลูกซึ่งปิดกั้นโดยไม่มีทางออก
เมื่อธรรมะได้ประจักษ์แจ้ง เราย่อมพูดถึงพุทธะได้ ครั้นประจักษ์ต่อไปว่าไม่มีทั้งธรรมะ ไม่มีทั้งพุทธะนั่นเรียกว่าเข้าถึงสังฆะหรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือบรรพชิตผู้อยู่เหนือกรรมทั้งปวง แล้วผลทั้งหมดอาจเรียกได้ว่า ตรีรัตนะ หรือเพชรพลอยสามชนิดในเนื้อหาอันเดียวกัน
ในสัจธรรมนั้นไม่มีอะไรเลยแม้สักอย่างเดียว ที่ดำรงอยู่ที่อาจจะยึดถือเอาได้เข้าถึงได้บรรลุตรัสรู้ได้ หรือเสวยผลได้ นั่นคือการนั่งอยู่ในโพธิมณฑล ซึ่งปราศจากความคิดแบ่งแยกอะไรต่าง ๆ นี้คือ การลืมตามองเห็นความว่างอันแท้จริงจากสิ่งทั้งปวง ที่เป็นปรากฏการณ์ที่ปรากฏ
การแสวงหาสัจธรรมโดยวิธีของการ ใช้สติปัญญาและการศึกษานั้นมีแต่จะทำให้เกิด ความสงสัยรวนเรและถอยห่างจากความจริงจนไกลเกินเอื้อมถึง จนกว่าเมื่อไหร่สามารถสลัดความคิดในการแสวงหาอะไรบางอย่างเสียได้ทุก ๆ ทางจนจิตหยุดการเคลื่อนไหวราวกับว่ามันเป็นท่อนไม้หรือ ก้อนหินเท่านั้น นี่คือปากทางประตูสู่ความนิ่งเงียบเหนือกรรมทั้งปวง
สากลโลกธาตุอันไพศาลก็ตั้งอยู่แต่ภายในใจ สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์นานาชนิดและทิวเขาเขียว เป็นพืดจับสายตาอยู่ทุกทิศทุกทาง ท้องฟ้าอันเวิ้งว้างที่เห็นสว่างอยู่เหนือโลก ภาพและเสียงแต่ละอย่างทั้งหมดนั้นไม่มีอะไรสักเส้นผมเดียวที่อยู่ นอกไปจากจิตที่คิดมันขึ้นมาเอง!!!......
ปรากฏการณ์ทั้งหลายไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่มันอาศัยสิ่งแวดล้อมที่คิดปรุงแต่งขึ้นที่ปรากฏออกมาเป็นวัตถุและเรื่องราวต่าง ๆ จึงทำให้เกิด ความจำเป็นที่จะต้องมีวิชาความรู้ชนิดที่เป็นของเหมาะเฉพาะตัวเป็นคน ๆ ขึ้นมา
เราอาจจะพูดไปได้ตลอดทั้งวัน ถึงกระนั้น ก็จะมีอะไรบ้างที่ได้พูดออกมา??? เราอาจจะฟังได้ตั้งแต่เช้าจนพลบค่ำถึงกระนั้นก็มีอะไรบ้าง ที่ได้ยินได้ฟัง??? แม้ที่ว่าพระพุทธองค์ทรง ประกาศธรรมเป็นเวลาถึง ๔๕ ปี โดยความจริงแล้ว ไม่มีถ้อยคำใด ๆ ที่พระองค์ได้ตรัสเลย จากความว่างสู่ความว่างจากอนัตตาสู่อนัตตา ไม่มีเบื้องต้น และสิ้นสุด
ความหมายของโพธิญาณมิใช่เป็นภาวะ พระพุทธองค์มิได้ทรงบรรลุถึงโพธิญาณ สัตว์โลกก็มิได้ไร้จากโพธิญาณ เพราะมันมิใช่ถึงได้ด้วยกายหรือแสวงหาได้ด้วยใจ สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงเป็นสิ่งเดียวกันกับโพธิญาณมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โพธิญาณมิได้เป็นสิ่งที่ต้องบรรลุถึง เดี๋ยวนี้ นี่แหละถ้าเราสามารถเข้าใจซึมซาบถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วยใจเองและ เป็นผู้เห็นอย่างชัดเจนว่าไม่มีอะไรเลยที่ใคร ๆ จะลุถึงก็จะเป็นผู้มีโพธิจิตอยู่แล้วในทันที ธาตุแท้ซึ่งเป็นเนื้อหาของความเป็นพุทธะนั้นเป็นสิ่ง ๆ เดียว ซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่เสมอไม่มีการล้น ไม่มีการพร่อง มันแทรกซึมอยู่ทั่วในภูมิแห่งความเป็นอยู่ของสัตว์ ทั้งหกภูมิและเป็นเนื้อเดียวกันซึ่งเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ทั่วทุกหนทุกแห่ง ดังนั้นสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ อันมากมายนับไม่ถ้วนในสากลจักรวาลนี้ทุก ๆ อย่างล้วนเป็นสิ่งเดียวกับพุทธะอย่างเสมอภาค
พระพุทธเจ้าทั้งหลายอุบัติขึ้นมาในโลก ทรงมีพระประสงค์จะทำความสิ้นสุดให้ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่เป็นกาย รูป อรูป และโลกทั้งสาม จะดับหายไปถ้าปราศจากความคิดปรุงแต่ง แต่ถ้ายังข้องแวะยึดเหนี่ยวอยู่ในความสังเกตุเห็น ว่ายังมีอะไรบางอย่างแม้จะเล็กเท่าเศษหนึ่งส่วนร้อยของธุลีเม็ดหนึ่งก็ตามที่อาจตั้งอยู่ได้โดย ความเป็นตัวเป็นตนอยู่แล้วไซร้ ต่อให้ความรู้เชี่ยวชาญแตกฉานอย่างสมบูรณ์ในคัมภีร์ตำหรับตำราทั้งหมดทั้งมวลก็ยังล้มเหลวต่อการที่จะเอาชนะ เหนือโลกทั้งสามอยู่นั่นเอง
จนกว่าเมื่อส่วนละเอียดที่สุดถูกเห็น เป็นความไม่มีตัวตน ไม่มีกายไม่มีจิต คือการทำความสิ้นสุดสู่ความสำเร็จดุจพระพุทธองค์จะมีปรกติ อยู่ในสูญญตาเป็นวิหารธรรมอยู่ด้วยความว่างผสานกันกับธรรมชาติเป็นธรรมเครื่องอาศัยอยู่เป็นนิจ
บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ผูกพันอยู่กับวงล้อแห่งการเวียนเกิดเวียนตายนั้นเป็นสิ่งที่ถูกสร้าง ย้อนสู่กรรมแห่งตัณหาของตัวเอง!!!! หัวใจของเขาเองยังผูกพันอยู่กับภูมิแห่งกำเนิดทั้งหกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นจึงยังผูกพันตนเองอยู่กับความทุกข์กายทุกข์ใจจนว้าวุ่นเหมือนด้ายยุ่ง
มีคนจำพวกหนึ่งที่มีจิตเหมือนจิตของวานร (ลิง) ซึ่งเป็นพวกที่สอนได้ยากนักเป็นพวกที่ต้องการข้อบัญญัติวิธีการระบบคำสอนแบบแผนนานาชนิด ที่จะเอาใช้บังคับจิตของตนให้ยอมจำนนเท่านั้นเอง ดังนั้นเมื่อความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้นธรรมะต่าง ๆ ที่เขาได้ศึกษาอัดเข้าไว้ทุกชนิดก็ตามมาแต่แล้ว มันก็สูญสิ้นไปเพราะการหยุดลงของความคิดปรุงแต่งนั้นเอง
ขอเพียงแต่ศึกษาให้รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะประสพความสำเร็จในการที่จะไม่ให้สติปัญญา ทำหน้าที่ของมันเท่านั้น สายโซ่แห่งสังสารวัฏก็จะหักเผาะออกไปทันที
จงเลิกละความคิดเห็นผิด ๆ ที่นำไปสู่ การแบ่งแยกจำแนกความแตกต่างนานาชนิด อย่างผิด ๆ เหล่านั้นเสียให้หมดอย่างสิ้นเชิงเถิด!!!! ไม่มีตัวเรา ไม่มีผู้อื่น ไม่มีอย่างผิด ไม่มีอย่างถูก ไม่มีความเกลียดชัง ไม่มีความรัก ไม่มีชัยชนะ ไม่มีล้มเหลว
จงขจัดขบวนการแห่งความคิดปรุงแต่ง ที่สะสมเป็นความรู้ทางสติปัญญาเสียให้หมดสิ้นเท่านั้น ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตก็จะถูกเปิดเผย แสดงความว่างบริสุทธิ์ออกมาให้เห็นด้วยวิธีเดียวนี้เท่านั้นที่จะทำให้ถึงความตรัสรู้ ทำให้เห็นธรรมชาติของทุกสรรพสิ่ง จะทำให้เป็นพุทธะขึ้นมา
ถ้านอกเหนือจากนี้แล้วความรอบรู้อะไรทั้งหมดทั้งสิ้น ความเพียรพยายามอย่างเจ็บปวด การบำเพ็ญตบะต่าง ๆ อันเกี่ยวกับอาหาร และเครื่องนุ่งห่มจะไม่ช่วยให้ได้ความรู้สึกเห็นแจ้งต่อจิต ที่เป็นธรรมชาติดั้งเดิมได้เลย....
ร่างกายเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยจิต แล้วใครหวังที่จะได้รับความรู้ธรรมชาติเดิมแท้ของจิตจากตำราคัมภีร์ได้อย่างไร??? ถ้าเข้าใจจิต อันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมและทำที่สุดจบให้แก่ความคิดแบ่งแยกจำแนกความแตกต่างนานาชนิดเสียให้ได้เท่านั้นมันก็จะไม่มีเนื้อที่เหลือไว้ให้ความผิดพลาด ต่าง ๆ เกิดขึ้นได้ แม้แต่นิดเดียว!!!
จงเจริญจิตหยุดอยู่บนความไม่มีอะไร คือทำจิตให้ว่างปลอดโปร่งอยู่เสมอเป็นนิจ ความรู้และอุปนิสัยที่ยังถูกครอบงำอยู่กับวงล้อม ของความหลงสำคัญว่ายังมีผู้หลงไหลและผู้ตรัสรู้ ว่าเป็นภาวะที่แตกต่างกันอยู่ก็จะพบว่าตนเอง กลับสู่วงล้อของความเกิดและความตายอยู่ร่ำไป เพราะความรู้ชนิดนั้นเป็นของชั่วแล่น แม้ความเพียรพยายามอันแข็งขันและการยอมทนทุกข์ทรมาร อย่างใหญ่หลวงมันเหมือนลูกศรที่เล็งพลาดในการยิง ขึ้นไปไม่ได้สูงและหมดแรงตกอยู่กลางดิน ใกล้ผู้ยิงนั่นเองถือเป็นความผิดพลาดอันมหาศาล
การปฎิบัติตนเองโดยปราศจากพฤติการเคลื่อนไหวใด ๆ ทุกขณะเวลา เดิน ยืน นั่ง นอน โดยไม่อิงอาศัยสิ่งอื่นใดทั้งภายในภายนอก ในการปล่อยให้สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน ราวกับว่าเราป่วยหนักเกินกว่าที่จะไปเป็นห่วง สิ่งใด ๆ หรือมีจิตเหมือนหินแท่งทึบที่ไม่มีรอยต้องอุดต้องซ่อมแล้วเมื่อนั่นแหละธรรมทั้งหลายจะซึมซับเข้าสู่หัวใจอย่างทะลุปรุโปร่งปฏิกริยาของเราต่อปรากฏการณ์อันหลากหลายจะลดลง เมื่อกรรมวิธีทางจิตทุกชนิดหยุดลงแล้วกรรมก็จะไม่ถูกสร้างขึ้นแม้แต่สักอนุภาคเดียวใจและกายก็จะเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ที่สุดอยู่เหนือโลกทั้งสามและมหาชนจะได้กล่าวกันว่าพุทธะองค์หนึ่งได้ปรากฎขึ้นในโลกแล้ว
ควรดำเนินชีวิตในลักษณะที่อนุโลมกันได้อย่างกลมกลืนกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตามโอกาส อันเหมาะสมแต่มิใช่ปล่อยตนไปตามกระแสโลก หรือไม่เป็นคนขวางโลกจงทำใจให้ว่างอิสระเสรี อยู่เสมอ
ชีวิตเดิมแท้เป็นสิ่งว่างจากตัวตนมาแต่ต้น ตัณหากิเลสความหลงสำคัญตนเป็นดุจกองปุ๋ยคอก ที่ต้องขนใส่เกวียนไปทิ้งเสียด้วยอภิปรัชญาและเล่ห์อุบายอันแยบคายดังนั้น แหล่งกำเนิดของพระตถาคตเจ้าทั้งหลายคือความว่างและสงบเงียบอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ประกอบอยู่ด้วยธรรมลักษณะใด ๆ ที่เป็นตัวตนแต่อย่างไรหรือชนิดไหนเลย เพราะเหตุว่า ทั่วทุกๆ อาณาจักรแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นของว่างโดยเสมอภาค
แม้จะมีใครเที่ยวโอ้อวดโฆษณาถึงเรื่องวิถีทางของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่าเป็นสิ่งอาจบรรลุถึงได้ด้วยการบำเพ็ญบารมีด้วยประการต่าง ๆ หรือด้วยการศึกษาพระสูตรและคัมภีร์ทั้งหลายแม้จะมี ผู้ที่อาจจะดีอกดีใจอยู่ด้วยการค้นพบวิถีทาง แห่งการตรัสรู้ก็อย่าได้ปล่อยตนให้เขาชักจูงไป หรือถ้าพบกับผู้ที่ไม่ยอมเข้าใจอะไรเลย เราก็ต้องทำตนขอเป็นผู้ไม่รู้อะไรเราจะไม่ได้รับความยินดีปรีดาอะไรและความรู้สึกชนิดนั้นก็ไม่เกี่ยวกับ ความรู้เรื่องของชีวิต
การเกิดความรู้สึกซึมซาบได้ในเวลา ชั่วพริบตาเดียวว่าผู้กระทำและสิ่งที่ถูกกระทำ เป็นของสิ่งเดียวกันนั่นแหละจะนำไปสู่ความเข้าใจ อันลึกซึ้งเหนือคำบรรยายและโดยความเข้าใจ เช่นนี้เองคือการลืมตาต่อสัจธรรมของชีวิต....
ธรรมชาติเดิมแท้ของชีวิตเป็นสิ่งที่มิได้หายไปขณะที่กำลังหลงผิดด้วยความไม่รู้และมิได้รับกลับมาในขณะรู้แจ้ง เพราะในธรรมชาติเดิมแท้มันไม่มีทั้งอวิชชาและสัมมาทิฏฐิมันเป็นความว่างที่มีอยู่ ทั่วทุกแห่งหนและเป็นเนื้อหาอันเดียวกันกับธรรมชาติเดิมแท้ของชีวิตดังนั้นอารมณ์ต่าง ๆ ที่จิต ปรุงแต่งขึ้นมามากมายก็กลับสู่ความว่างดุจเดิม
โดยหลักมูลฐานแล้ว ความว่างนั้นเป็นสิ่งซึ่งปราศจากมิติต่าง ๆ แห่งการกินเนื้อที่ปราศจากกิเลส ปราศจากกรรม ปราศจากอวิชา ปราศจากสัมมาทิฏฐิ จะเข้าใจได้เองอย่างชัดเจนว่า ในความว่างนั้นไม่มีอะไรเลยที่จะติดเนื่องอยู่กับสิ่งใด
ความว่างนั้นเป็นสิ่งที่ซึ่งสิงซึมอยู่ทั่วไปทุกหนทุกแห่งอันเป็นความงดงามไร้ที่ตำหนิ เป็นสิ่งซึ่งมีอยู่ได้โดยตัวมันเองและเป็นสิ่งสูงสุดที่ไม่มีอะไรสร้างขึ้น เมื่อเป็นดังนั้นแล้วมันจะเกิดปัญหาที่ต้องถกเถียงกันขึ้นได้อย่างไรในข้อที่ว่าพระพุทธะที่แท้ไม่มีปาก และมิได้ประกาศธรรมใด ๆ เลยและว่าการได้ยิน ที่แท้นั้นไม่ต้องการหูเพราะว่าใครหนอ???
Comments (0)